"ดีเอสไอ" รับคดี "กำนันนก" ฮั้วประมูลเป็นคดีพิเศษ รวม 19 โครงการ วงเงิน 1.3 พันล้าน

จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ “กองคดีฮั้วประมูล” ดำเนินการสืบสวนสอบสวน 2 บริษัทของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” ในฐานะกรรมการบริษัท ซึ่งรับโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน โดยเป็นโครงการที่มีมูลค่าวงเงินสัญญาตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ได้แก่ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด จำนวน 18 โครงการ และ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด จำนวน 2 โครงการ รวมทั้งหมด 20 โครงการ ที่มีเหตุอันควรสงสัยจะมีการทำสัญญากับภาครัฐโดยไม่โปร่งใส และได้มีการออกหมายเรียกพยานแก่ 58 บริษัท ซึ่งเคยยื่นซื้อซองราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทำให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของกำนันนก หรือบริษัททั้ง 58 แห่งถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลโครงการหรือไม่ จึงเรียกมาสอบปากคำ พร้อมยื่นเอกสารชี้แจงตั้งแต่วันที่ 18-20 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานข่าวว่า พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ ได้มีคำสั่งรับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 82/2566 ซึ่งให้ทำการสอบสวนการกระทำที่มีพฤติการณ์ที่ควรสงสัย รวม 19 โครงการ ส่วนอีก 1 โครงการไม่เข้าหลักเกณฑ์ โดยทั้ง 19 โครงการที่รับเป็นคดีพิเศษนี้ต่างอยู่ในความรับผิดของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง 8 โครงการ , กรมทางหลวงชนบท 4 โครงการ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 7 โครงการ ในวงเงินงบประมาณทั้งหมด 1,326,244,000 บาท และวงเงินทำสัญญารวม 1,210,778,289 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิม (e-auction) 12 โครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2559 และการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ (e-bidding) 7 โครงการ หลังปี พ.ศ.59-ปัจจุบัน ซึ่งการฮั้วประมูล แบบเดิมนั้นจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าแบบ e-bidding เพราะการเสนอราคามีตลาดกลาง ทำให้บริษัทมีโอกาสเจอกันพร้อมต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

รายงานข่าว ระบุอีกว่า เบื้องต้นดีเอสไอจะดำเนินการเอาผิดกับ 2 บริษัทของกำนันนกในคดีฮั้วประมูลเป็นหลัก และนโยบายของผู้บริหารให้สอบสวนต่อเนื่อง ให้สืบสวนขยายผลเพื่อหาผู้ร่วมขบวนการที่สำคัญซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหรือคนทำระบบที่เป็นผู้นำข้อมูลจากกรมบัญชีกลางมาขายข้อมูลและรายชื่อให้กับผู้จัดฮั้วในพื้นที่ต่างๆ อาทิ การขายข้อมูลผู้เข้ารับเอกสารหรือผู้ซื้อซอง การขายข้อมูลแบบออนไลน์ เป็นต้น เพื่อหาตัวการที่แท้จริงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับใดหรือหน่วยงานใดบ้าง รวมถึงทั้ง 58 บริษัท ที่เคยยื่นซื้อซองแต่ไม่เข้าร่วมประกวดราคา หากพบเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องก็ต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน

เมื่อถามว่าการเข้าชี้แจงของพยานทั้งหมดที่ผ่านมา มีการให้การปฏิเสธอย่างไรบ้าง รายงานข่าวระบุว่า ได้รับรายงานว่าขาด 7 บริษัทที่ไม่เข้าให้ปากคำ แต่บางส่วนมีการชี้แจงผ่านหนังสือเอกสาร ส่งมายังพนักงานสอบสวน และการให้การส่วนใหญ่ของตัวแทนบริษัท ไม่ได้มีการบอกว่าเข้ายื่นซื้อซองเสนอราคาเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีพฤติการณ์ปกปิดข้อมูล แต่ก็มักให้การยืนยันกันว่าบริษัทของตัวเองนั้นยื่นซื้อซองเสนอราคาเป็นไปตามระบบขั้นตอน แต่ด้วยความไม่พร้อมจึงมีการถอนตัวในขั้นตอนประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง (e-bidding) และปัจจุบันทราบว่าคณะพนักงานสอบสวนยังไม่ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาแก่พยานหรือตัวแทนบริษัทใด อยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดและเส้นทางการเงิน