"ภูมิธรรม" เผยคืบหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำหลักการไม่แตะหมวด1-2 และ มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ เคาะ 10 ต.ค. ถกกรอบทำงานร่วมกันนัดแรก คาด ก่อนสิ้นปีได้ข้อสรุปหวังลุยเดินหน้าทันที
วันที่ 3 ต.ค. 66 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แถลงข่าวความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า หลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่แตะต้องหมวด 1-2 และพระราชอำนาจ นอกจากนั้น จะทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และตั้งใจให้เสร็จภายใน 4 ปีที่เป็นรัฐบาล ซึ่งจะต้องทำกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จด้วย เพื่อให้ทันต่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ ดังนั้นยืนยันจะเร่งรีบให้มากที่สุด พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดวิธีการทำงานของคณะกรรมการ โดยจะไปพบกับกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เชิญนักธุรกิจ นักการเมือง ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นประชาธิปไตยมาพูดคุยให้เกิดความครอบคลุมมากที่สุด
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะประชุมนัดแรกวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ก่อนเดินหน้าพูดคุยกับทุกภาคส่วน และคาดว่าก่อนสิ้นปีจะมีข้อสรุป
นายภูมิธรรมกล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ควรจะมีความเห็นของทุกๆฝ่าย ให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น หากยังไม่พร้อมหรือไม่สนใจ เป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่เราก็ยังมีเวทีที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้เสนอความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งทางคณะกรรมการจะรวบรวมตัวแทนใส่ให้ได้มากที่สุด แม้อาจจะไม่ครบถ้วนบ้างก็ตาม
ส่วนเรื่องที่จะต้องใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนคิดว่าภารกิจในการรับฟังภาคส่วนต่างๆ มันมีคำถามใน 3 ประเด็น คือ 1.กระบวนการแก้ไขหรือจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างไร / 2.ยังมีขบวนการทำประชามติ เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในกรณีต่างๆ จะต้องทำกี่ครั้ง ซึ่งก็ต้องดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ แต่เราก็อยากจะเซฟให้ทำจำนวนครั้งน้อยที่สุด เพื่อที่จะไม่เสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก และ / 3 .การทำประชามติในครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร พร้อมยืนยันเราเปิดรับฟังทุกอย่างยกเว้นเพียงการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2
นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราพยายามคำนึงว่าจุดใดที่เป็นความขัดแย้ง เราก็พยายามสลายความขัดแย้ง หาทางที่อยากจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปให้ได้มากที่สุด
ส่วนทางด้านตัวแทนของพรรคก้าวไกลนั้น กำลังพิจารณาเรื่องผู้แทนเข้าร่วมคณะกรรมการ โดยมี ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ประสาน
ส่วนคณะกรรมการไม่มีตัวแทนของ ilaw นายภูมิธรรมระบุว่า ได้เชิญมาแต่ถูกปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะเชิญมาร่วมรับฟังด้วย ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม ประชาชน คาดว่าจะใช้เวลา3 เดือน ซึ่งภายในเดือนธันวาคม จะได้ความชัดเจน