บอร์ดสำนักงานสลากฯ ชี้ปัญหาหวย 30 ล้านใหม่ ต้องไปฟ้องร้องกันเอง ไม่มีคำสั่งอายัด ใครมาขึ้นเงินกองสลากต้องจ่าย เชื่อพิสูจน์ทราบทางกฎหมายได้

วันที่ 3 ต.ค. 2566 รองศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงกรณีผัวเมียที่ จ.อุทัยธานี เข้าแจ้งความร้านออนไลน์ไม่ส่งลอตเตอรี่ที่สั่งซื้อไว้ 5 ใบแบบเบเงินปลายทาง แล้วถูกรางวัลที่ 1 เป็นเงิน 30 ล้านบาทว่า กรณีนี้เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล​แบบออนไลน์ เป็นการตกลงกันแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน เพราะให้มาเก็บเงินปลายทาง แต่ปรากฏว่า ร้านไม่ได้ส่งให้เพราะติดต่อผู้ซื้อไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องไปตกลงกันเอง นั่นก็คือการแจ้งความฟ้องร้องกันเองว่าใครผิดสัญญาหรือสัญญาซื้อขายสมบูรณ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ทราบได้ แต่ไม่ใช่เรื่องของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และไม่ได้มีอำนาจไปตรวจสอบในเรื่องนี้ว่าสลากเป็นของใคร เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาล

แต่ส่วนตัวก็มองว่า คดีนี้น่าจะพิสูจน์ได้ เพราะดูเหมือนผู้ซื้อจะมีหลักฐานว่าเขาซื้อเลขอะไร เขาก็น่าจะใช้เป็นข้ออ้างได้ แต่ส่วนตัวก็ไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ถ้ามีหลักฐานแบบนี้ก็น่าจะไม่ยืดยาวเหมือนคดีหวย 30 ล้านที่กาญจนบุรี

รองศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ ยังกล่าวต่อด้วยว่า กรณีหากมีใครถือสลากดังกล่าวมาเพื่อมาขึ้นเงินรางวัล สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินรางวัลเท่านั้น เพราะไม่มีคำสั่งศาลหรือคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมา และตอนนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า มีคนน้ำสลากนี้มาขึ้นเงินรางวัลแล้วหรือยัง เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล หรือหากมีอะไรเปลี่ยนแปลง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างตามคำสั่งศาลหรือตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

"เรื่องนี้ต้องพิสูจน์ทราบกันทางกฎหมาย หลักการง่ายๆ ก็คือว่า จุดแรกในเรื่องของรูปแบบของการซื้อมันต้องมีสัญญากัน เพราะว่ามันเป็นลักษณะของการขายผ่านเว็บไซต์ เพราะฉะนั้นรูปแบบที่มีการโฆษณาว่าเก็บเงินปลายทาง เก็บเงินต้นทาง การประสานการติดต่ออะไรต่างๆ ว่า ซื้อแล้วด้วยหมายเลขนี้จะส่งมอบเมื่อไหร่ เก็บเงินปลายทางจะส่งมาเมื่อไหร่มันคงมีกระบวนการพิสูจน์ทราบ ว่าได้ดำเนินการตามสัญญาไหม ตนมองว่าต้องไปพิสูจน์ทราบในทางคดี การผิดสัญญาซื้อขายแม้ยังไม่ได้จ่ายเงินถือเป็นสัญญาครบถ้วนหรือไม่ อันนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องไปดู หรือว่าหากบอกว่าจะซื้อจะขายเก็บเงินปลายทางมันเป็นสัญญาครบถ้วนแล้ว ใครเป็นคนผิดสัญญาก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องไปพิสูจน์ทราบในชั้นศาล"

รองศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ตนอยากแนะนำว่า เมื่อซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ท่านต้องมีสลากอยู่ในมือ หรือหากซื้อผ่านแอปฯ เป๋าตังค์ ก็จะได้รับการบันทึกเลขบัตรประชาชนในการสั่งซื้อทันที ดังนั้น ก่อนที่จะมีการออกรางวัล​ เริ่มถ่ายทอดสดเวลา 14.00 น ผู้ซื้อสลากต้องมีสลากอยู่ในมือแล้ว ไม่ว่าจะซื้อในรูปแบบใด สั่งซื้อออนไลน์หรือสั่งแม่ค้ามาส่ง ก็ต้องมีสลากในมือแล้ว เพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เราจะจ่ายรางวัลให้กับผู้ที่มีสลากทุกกรณี ยกเว้นมีคำสั่งศาลอายัดรางวัล หรือมีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือมีใบแจ้งความว่าทำสลากหาย กองสลากถึงจะอายัดจ่ายรางวัลได้

 

สิ่งที่อยากแนะนำต่อไปก็คือ เมื่อซื้อรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว อยากให้ทุกคนคิดเสมือนว่าถูกรางวัล ควรไปแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้ทุกครั้งเพื่อเป็นหลักป้องกันให้ตัวเอง

เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์ การซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล​แพลตฟอร์ม​ออนไลน์หรือไม่ รองศาสตราจารย์ธนวรรธน์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องให้ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้ ต้องระมัดระวังด้วยตัวเอง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพูดเสมอว่า ท่านควรเป็นเจ้าของ เวลาที่ไปซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ แล้วเขาบอกว่า เขาจะขึ้นเงินให้ มันมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินสูง และมันไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยเขียนรองรับไว้ กฎหมายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเขียนไว้แค่ 3 เรื่องหลักๆ การที่ผู้ขายๆ เกินราคาปรับไม่เกิน 10,000 บาท การที่ผู้ขายขายให้กับเด็กและเยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท การที่ผู้ขาย ขายในบริเวณสถานศึกษาไม่เกินรัศมี 100 เมตร ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และตอนที่ยกร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ ก็ไม่มีกรรมาธิการแปลญัตติพูดถึงเรื่องของการขายสลายในรูปแบบอื่น ดังนั้น การซื้อขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่มีความผิดในกฎหมายสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลย

 

ส่วนที่มีการขายในแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วโฆษณาเกินจริงหรือไม่มีฉลากจริง จะมีความผิดในฐานฉ้อโกง ปลอมแปลงเอกสาร ทำให้ไม่มีหน่วยงานไหนมองว่า จำเป็นจะต้องออกกฎหมายเฉพาะสำหรับการขายสลายบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่วนเรื่องของการผิดสัญญาซื้อขายก็มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว จึงมีช่องทางที่จะดำเนินคดีได้