กรมชลประทาน เตือน 4 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับมือมวลน้ำ หลังสั่งเพิ่มระบายทะลุ 1300 ลบ.ม. ส่งผลให้น้ำขึ้นอีก 1.5 ฟุต ใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า
ในขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์น้ำเหนือในหลายจังหวัด ที่กำลังหลากเข้าท่วมพื้นที่ ประกอบกับจะมีฝนตกหนักระหว่างวันที่ 3-7 ตุลาคม ที่จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลหลากมากขึ้น เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท จุดรับช่วงต่อและกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มภาคกลางเอง
ล่าสุดวันนี้ 3 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า กรมชลประทานมีการปรับแผนรับสถานการณ์ โดยเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได เพื่อสร้างพื้นที่ว่างในลำน้ำ รองรับมวลน้ำเหนือที่กำลังไหลเข้ามาสมทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันน้ำเหนือไหลผ่านจุดวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ลงมายังเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวัดได้ 1658 ลบ.ม./วิ (ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ทำให้กรมชลประทานต้องเพิ่มการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนจากอัตรา 1200 ลบ.ม./วิ ขึ้นไปอยู่ที่ 1341 ลบ.ม./วิ เพื่อสร้างสมดุลเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน
รวมถึงสร้างพื้นที่ว่างในลำน้ำรองรับมวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาเพิ่มเติม ซึ่งจากน้ำเหนือที่เพิ่มขึ้นทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนยกตัวจาก 16.69 ม.รทก. (เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ขึ้นไปอยู่ที่ 16.77 ม.รทก. โดยที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนเองได้ยกตัวขึ้นจากการปรับการระบายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากเมื่อช่วงเช้า 11.80 ม.รทก. ล่าสุดวัดได้ 12.25 ม.รทก. หรือยกตัว 45 เซนติเมตร ในรอบ 12 ชั่วโมง
โดยจากการปรับเพิ่มการระบายน้ำขึ้นไปในเกณฑ์ 1300 ลบ.ม./วิ จะส่งผลให้พื้นที่ในจังหวัดท้ายเขื่อนมีระดับน้ำสูงขึ้น 30-45 เซนติเมตร ในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า กรมชลประทานจึงแจ้งเตือน ผู้ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง กระชังปลา ร้านอาหาร เรือ แพ โป๊ะ ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงไปใน จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง
โดยเฉพาะคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ควรเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เพื่อให้สามารถขนย้ายสิ่งของให้พ้นน้ำ และรับมือกับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นได้ทันท่วงที อีกทั้งขอให้ติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย