"ก้าวไกล" ยื่นกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา หวังเป็นหมุดหมายคืนชีวิตใหม่ให้ประชาชนที่มีส่วนร่วมทางการเมือง-ถูกกระทำโดยนิติสงครามนับแต่การชุมนุมพันธมิตรฯ เชื่อสำเร็จได้หากทุกพรรคการเมืองสนับสนุน

วันที่ 5 ต.ค. 66 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส. พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวการยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับหนังสือ

นายชัยธวัช กล่าวว่า สาเหตุที่ยื่นร่าง พ.ร.บ. นี้ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังลุกลามบานปลายจนเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ หลายพันคนถูกดำเนินคดี ตั้งแต่คดีเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงข้อกล่าวหาร้ายแรงเป็นคดีความมั่นคง การดำเนินคดียังไม่ยุติจนถึงปัจจุบัน

 

 

พรรคก้าวไกลเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เป็นการยากที่สังคมไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุข เพราะประชาชนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ต่างมีความเห็นว่ารัฐไม่เคารพความเห็นต่างทางการเมือง ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยได้กลับมาเริ่มต้นใหม่ จำเป็นต้องยุติการใช้นิติสงครามต่อพี่น้องประชาชน ให้ประชาชนที่ได้แสดงออกทางการเมืองโดยมีเหตุจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้หลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดี

“การนิรโทษกรรมจะเป็นหนทางถอนฟืนออกจากกองไฟ ยุตินิติสงคราม เพื่อเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นสร้างความยุติธรรมและความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป”

นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่าง ...ฉบับนี้ ได้แก่

(1) กำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันที่ ...นี้ มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

(2) การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ตลอดจนจะไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และจะไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

(3) กลไกในการนิรโทษกรรม จะกำหนดให้มี ‘คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม’ โดยในร่างของพรรคก้าวไกลเสนอให้มี 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาจะเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี 1 คน และบุคคลที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกอีก 2 คน

นอกจากนี้ เพื่อให้มีความรอบคอบ จะมีองค์ประกอบที่มาจากผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม จำนวน 1 คน ซึ่งมาจากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และมาจากตุลาการหรืออดีตตุลาการศาลปกครอง 1 คน มาจากพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการอีก 1 คน ซึ่งมาจากการเสนอของศาลปกครองและอัยการเอง ส่วนคนสุดท้าย คือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

(4) ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรือจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง อันเนื่องมาจากระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือมติ หรือการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

 

 

นายชัยธวัชกล่าวว่า พรรคก้าวไกลมุ่งหวังให้การเสนอร่าง ... ฉบับนี้ เป็นหมุดหมายสำคัญในการคืนชีวิตใหม่ให้พี่น้องประชาชนที่ถูกกระทำโดยนิติสงครามหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมืองแล้วถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งพี่น้องประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเองในการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ ได้รับการกระทบกระเทือนหรือโดนละเมิด

เราเชื่อว่าการนิรโทษกรรมนี้ สามารถเป็นไปได้หากพรรคการเมืองต่าง ๆ มีเจตจำนงร่วมกันในการผลักดัน ซึ่งหากพิจารณาให้ดี จะพบว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ผ่านมาไม่ได้ตัดความเป็นไปได้หรือปฏิเสธการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแต่อย่างใด หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะใช้โอกาสนี้ พูดคุยกับพรรคการเมืองทุกฝ่าย รวมถึงพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มทุกสีที่เคยมีความขัดแย้งกันในอดีต ให้สำเร็จให้ได้
.
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลยินดี หากพรรคการเมืองต่าง ๆ จะมีร่างอื่น ๆ มาประกบกับร่างของพรรคก้าวไกล เพื่อให้เราได้มีความเห็นในการหยิบยกทุกร่างขึ้นมาพิจารณาร่วมกันในสภาฯ

“แม้พวกเราประชาชนจะไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองตรงกันทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่าประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายต่างแสดงออกทางการเมืองและขัดแย้งกันบนพื้นฐานที่อยากผลักดันให้สังคมเป็นสังคมที่ดีตามความคิดความเชื่อของตน ดังนั้น เราเชื่อว่าการยุติการดำเนินคดี การยุตินิติสงครามกับประชาชนไม่ว่าฝ่ายไหน จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายได้ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยโดยสันติ หันหน้าเข้าหากันเพื่อแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ของสังคมไทย ที่พวกเรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ในอนาคต”