รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ขอเวลา 6 เดือน - 1 ปี พัฒนาระบบเซลล์ บรอดแคสต์ แจ้งเตือนภัยประชาชน แต่ระยะสั้นคุยเครือข่ายมือถือส่ง SMS ไม่กังวลคนร้ายได้รับข้อความด้วย พร้อมทดสอบระบบ Emergency Alert เตือนภัยเฉพาะเจาะจงทำเนียบรัฐบาล ได้ผลดี

 

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงภายหลังเรียกผู้บริหารเครือข่ายมือถือผู้ให้บริการ AIS และ True สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือถึงการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วน โดยเรื่องของ Emergency alert (ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน) ได้ทดสอบระบบ LBS เข้าสู่ระบบแล้ว โดยการยิง SMS เข้าสู่มือถือ ในบริเวณทำเนียบรัฐบาลเห็นว่าได้ผลดี ซึ่งเรื่องนี้สามารถดำเนินการได้ทันที มีผลตั้งแต่วันนี้ (5 ตุลาคม) และเราขอรับไปดำเนินการ ซึ่งการแจ้งเตือนจะครอบคลุมไปถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 2 ค่าย รับปากว่าสามารถดำเนินการได้ในทันที



ส่วนเซลล์ บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) หรือ ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันรวดเดียว เพื่อแจ้งเตือนภัยนั้น คงต้องใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งหากเราสามารถทำได้จะเป็นระบบที่มีความเสถียร และเป็นระบบเตือนภัยที่สามารถแจ้งพี่น้องประชาชนได้อย่างครอบคลุมและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น และตนได้ประสานงานกับ กสทช. รวมถึงเครือข่ายมือถือ ซึ่งทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เหลือเพียงศูนย์ Command Center ที่ทุกวันนี้เป็นปัญหาระดับชาติ โดยเราจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน และจะหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ต่อไป

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงระบบ Alert ว่ามี 2 ระยะ คือ

- ระยะที่ 1 คือ LBS จะคล้ายกับ SMS แต่จะใช้เวลาในการประมวลผลนาน ซึ่งระบบจะจับจำนวนคนในพื้นที่ก่อนจะมีการประมวลผลทำให้ต้องใช้เวลา

- ระยะที่ 2 คือการทำเซลล์ บรอดแคสต์ ซึ่ง กสทช. จะนำเสนอเข้าที่ประชุมและดำเนินการ โดยระบบดังกล่าวหากมีโทรศัพท์เครื่องใดอยู่ในพื้นที่จะสามารถยิงข้อความได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องประมวลผล ว่ามีเบอร์อะไรอยู่ในพื้นที่ จะเป็นระบบที่ดีที่สุดซึ่งจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด



กรณีหากคนร้ายอยู่ในพื้นที่และได้รับ SMS จะมีมาตรการป้องกันอย่างไร ?

นายประเสริฐ​ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องตัดสัญญาณในจุดที่มีคนร้ายอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ทำได้อยู่แล้ว ส่วนระบบเซลล์ บรอดแคสต์จะต้องใช้เวลาพัฒนา แต่จะเป็นระบบที่รวดเร็วใน 10 วินาที สามารถส่งได้เป็นล้านข้อความ ซึ่งไม่เกิน 1 ปี จะสามารถเกิดขึ้นได้ หรืออย่างเร็ว 6 เดือน ยืนยันว่าไม่ได้ช้าเกินไปเพราะต้องติดตั้งระบบหลายอย่าง และยืนยันว่าเรื่องเซลล์ บรอดแคสต์ ไม่ได้มีอุปสรรคเรื่องงบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการได้ และตนไม่อยากพูดถึงปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา ขอมองแต่อนาคตดีกว่าและตนจะเร่งให้เร็ว

ส่วนการปราบปรามเว็บขายปืนเถื่อน นายประเสริฐกล่าวว่า ตนได้ทำการสั่งปิดไปแล้ว ตอนนี้ได้ให้กระทรวงดิจิทัลดำเนินการปิดอยู่ เดิมทีต้องใช้อำนาจศาลแต่ขณะนี้สามารถสั่งปิดได้ทันทีเมื่อพบเห็น ขนาดที่เว็บเถื่อนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขายปืนก็มีการสั่งปิดทุกวัน เมื่อวานนี้ก็มีการสั่งปิดไป 500 เว็บ จากเดิมที่ปิดเพียงไม่กี่เว็บ และมีการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ สำหรับที่ตัวเลขเว็บขายปืนเถื่อนที่ปิดไปนั้นขอรอข้อมูลก่อน ส่วนแพลตฟอร์มอื่นที่ขายปืน เช่น Facebook และ Twitter ก็ได้ขอความร่วมมือไปแล้ว และทุกโซเชียลให้ความร่วมมือ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.35 น. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำการทดสอบระบบการแจ้งเตือนแบบเจาะจงพื้นที่ บริเวณทำเนียบรัฐบาล ด้วยระบบ SMS ผ่านเครือข่าย AIS และ True