ผู้ช่วย ผบ.ตร. เผย นายกฯ สั่งบิ๊กต่อ เรียกประชุมคณะทำงานศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปืนแบลงค์กัน ชี้ ในไทยไม่ใช่อาวุธผิดกฎหมาย มีอยู่หลายพันกระบอก เตรียมหารือร่วม กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อควบคุม

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่เด็กอายุ 14 ปี ก่อเหตุในห้างสยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้นเป็นปืนแบลงค์กันดัดแปลงให้สามารถยิงกระสุนจริงได้นั้น ว่า หลังจากที่ นายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุด้วยตนเอง ก็ได้สั่งการกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทันที ให้เรียกประชุมคณะทำงานเพื่อเร่งศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับปืนแบลงค์กัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปืนแบลงค์กันไม่ได้เป็นอาวุธในทางกฎหมาย ไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.อาวุธปืน จึงไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย สามารถนำเข้าโดยผ่านขั้นตอนทางศุลกากร ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีข้อมูลว่าในประเทศไทยมีปืนแบลงค์กันอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวเลขโดยประมาณมีอยู่หลายพันกระบอก จึงต้องมีการหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมปืนแบลงค์กัน

ในส่วนเรื่องการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ ซึ่งมีการพัฒนาไปมากแต่ระบบตรวจสอบการขนส่งพัสดุนั้นยังไม่มี จึงเป็นช่องทางให้มีการส่งสิ่งผิดกฎหมายกันโดยง่าย ซึ่งตรงนี้ก็ควรจะต้องมีการควบคุมด้วยเช่นเดียวกัน

ต่อมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการประชุม โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งเปิดแผนปฏิบัติการระดมกวาดล้างอาชญากรรมอาวุธปืน ซึ่งมีเป้าหมายกว่า 2,300 แห่ง ทั่วประเทศ มีทั้งแหล่งรับซื้ออาวุธปืน, โรงงานแหล่งผลิต และแหล่งดัดแปลงปืนแบลงค์กัน โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท. เป็นผู้นำข้อมูลเป้าหมายส่งให้กับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการระดมดวาดล้างตามอผนต่อไป

อีกเรื่องที่จะต้องมีการพูดคุยหารือเพื่อหามาตรการป้องกันคือ เรื่องการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ ส่วนเรื่องการควบคุมการนำเข้าก็จะต้องหารือกับกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และเรื่องการพิจารณาให้แบลงค์กันเป็นอาวุธปืนนั้น อยู่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยซึ่งจะเป็นผู้พิจารณา