อ.นันทนา ชี้ รัฐบาลมีสิทธิชอบธรรมเดินหน้าแจก 10,000 เงินดิจิทัล เพราะสัญญากับประชาชนได้แล้ว แต่หากปรับเงื่อนไขจะกระทบศรัทธาประชาชน แนะพรรคการเมืองเลิกนโยบายประชานิยมฉาบฉวย ฝาก กกต. ก่อนปล่อยผ่านควรดูให้รอบคอบ
วันที่ 7 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวถึงกรณีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ร่วมลงนามคัดค้านนโยบายแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล ว่าการที่ กกต. ได้อนุมัตินโยบายจนพรรคเพื่อไทยนำไปหาเสียง จนมาถึงการบรรจุในนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภา ถือเป็นความผูกพันที่รัฐบาลจะต้องผลักดันนโยบายนี้
ซึ่งหากมองในเชิงการเมืองรัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นนโยบายสาธารณะ และแจกเงินให้ประชาชนโดยทั่วหน้า 10,000 บาท เป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลสามารถทำได้ แต่หากมองในแง่ผลกระทบทางด้านการเมืองหากรัฐบาลผลักดันนโยบายจนประชาชนได้เงิน 10,000 บาท แต่ประเทศชาติติดอยู่ในกับดักของการเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้บรรลุเป้าหมายอย่างที่คาดการณ์ไว้ ก็จะส่งผลต่องบประมาณในเรื่องการพัฒนาประเทศ เพราะหากรัฐบาลใช้เงินถึง 1 ใน 6 ของงบประมาณแผ่นดิน มากระตุ้นเศรษฐกิจรอบเดียวแล้วไม่ได้ผลตามที่หวัง ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ และหากมีวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาความรับผิดชอบก็จะตกอยู่กับรัฐบาล ประชาชนก็จะไม่เชื่อถือ ถือเป็นผลกระทบต่อเนื่องในด้านความน่าเชื่อถือในการบริหารประเทศ
รศ.ดร.นันทนา ระบุด้วยว่า การที่รัฐบาลจะผลักดันนโยบายตามที่เสนอต่อสภา ก็ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำไปแล้วจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงสร้างวิกฤติเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับประเทศ เพราะวิกฤตนั้นจะกลายเป็นวิกฤติศรัทธาของประชาชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนัก และกลับมาทบทวนเรื่องข้อเสนอและเหตุผลที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาทักท้วง
หากรัฐบาลปรับเงื่อนไขหรือปรับขนาดโครงการ ?
รศ.ดร.นันทนา ระบุว่า รัฐบาลนี้เริ่มต้นมาด้วยการติดลบ ตั้งแต่การตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว หากจะปรับเงื่อนไขรูปแบบของโครงการ ย่อมส่งผลกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลเพราะต้นทุนรัฐบาลติดลบมาตั้งแต่เริ่มต้น หากมีการปรับปรุงเงื่อนไขก็จะทำให้คนมองว่าไม่เป็นไปตามสัญญา แต่ในขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลไม่ปรับอะไรเลยแล้วเดินหน้าใช้นโยบายโดยตรงตามเงื่อนไขเดิมรัฐบาลก็เสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านการคลังและหนี้สาธารณะ และอาจจะต้องหาเงินมาใช้เพื่อให้โครงการนี้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ไม่ว่าจะผลักดันตามที่เคยแถลงไว้หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว
รศ.ดร.นันทนา กล่าวอีกว่า ในด้านรัฐศาสตร์หากจะบริหารประเทศให้ตลอดรอดฝั่ง และทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน รัฐบาลคงจะต้องดูนโยบายที่ไม่ใช่ประชานิยมฉาบฉวยเพราะสุดท้ายประชาชนจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ก็ถือว่ารัฐบาลไม่สามารถพัฒนาประเทศให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต้องมีวิธีการทำให้การผลักดันนโยบายเป็นนโยบายที่ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ไม่ส่งผลเสียจนทำให้ประเทศชาติติดกับหนี้สาธารณะ หรือเข้าข่ายล้มละลายเนื่องจากหลายประเทศในลาตินอเมริกาก็ประสบภาวะนี้มาแล้ว
ขณะที่ กกต. ก็ต้องพิจารณาว่าหากมีนโยบายที่ใช้เงินมหาศาลแล้วปล่อยให้ผ่านมาได้ จนกระทั่งประกาศเป็นนโยบายสาธารณะโดยไม่มีการทักท้วงสอบทานเรื่องแหล่งที่มาของเงิน กกต. ก็น่าจะกลับไปทบทวนตัวเองด้วยว่าหากสุดท้ายทำแล้วส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศในเชิงลบเหตุใด กกต. จึงปล่อยให้รัฐบาลผลักดันขึ้นมา