นักวิชาการ เปิด 3 เหตุผล ค้านแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระบุเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่กระตุ้น ทำประเทศขาดดุลงบประมาณ

ศาสตราจารย์พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งในนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ ร่วมลงนามคัดค้านนโยบายแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล กล่าวถึงเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ออกมาแสดงความเห็นค้านโยบายดังกล่าวว่ามีเหตุผล 3 ประการหลัก คือ 1. มองว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และในปีหน้าน่าจะดีขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เริ่มกลับมา ขณะที่การใช้จ่ายของประชาชนก็เริ่มฟื้นตัวในระดับนึง เหตุผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงดูอ่อนมากมองว่าไม่จำเป็นที่จะใช้เงินมหาศาลมากระตุ้น

2. หากเดินหน้านโยบายจะต้องมีการกู้เงินมา ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ และที่ผ่านมาก็ขาดมาหลายปีติดต่อกัน ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้รัฐบาลเดียว เพราะหลายรัฐบาลก่อนหน้าก็มีงบประมาณขาดดุลสะสมหนี้มาสูงมากเกินกว่า 60% ของจีดีพี หากกู้มาอีก กว่า 500,000 ล้าน ก็จะยิ่งสะสมมากขึ้น จะทำให้เกิดภาระหนี้ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ไม่ว่าจะกู้เอกชนหรือรัฐบาลก็จะมีดอกเบี้ยสูง จะเป็นอันตรายเพราะในอนาคตจะต้องมีแผนเผื่อไว้ว่า ภาครัฐจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในบางช่วงเวลา หากใช้เงินจำนวนมากในตอนนี้ก็อาจจะไม่มีเครดิตในการกู้เพิ่มเติม

3.เรื่องความเป็นธรรม เนื่องจากโครงการนี้แจกเงินให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปีโดยไม่คำนึงถึงฐานะ มองว่าไม่ค่อยยุติธรรม หากคนที่มีรายได้ค่อนข้างดีจะได้รับเงินจำนวนนี้อีก จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นอีก การแจกเงินแบบเหวี่ยงแหอาจสร้างความไม่เป็นธรรมได้

ศาสตราจารย์พรายพล ยังระบุด้วยว่าหากรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายนี้ต่อ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์คงไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอะไรมากขึ้น เพียงแต่ต้องการใช้ความรู้ ความสามารถ เสนอความเห็นให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนได้รับทราบถึงปัญหาของนโยบาย ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ แต่อาจจะมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวอื่นๆไปยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่าผิดวินัยการเงินการคลัง หรือไม่

สำหรับกลุ่มนักวิชาการคงทำได้แค่ให้ข้อคิดเห็นอยู่ที่รัฐบาลจะรับฟังและปรับหรือไม่

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า เรื่องนี้ก็ต้องให้เกียรติรัฐบาล เพราะผ่านการเลือกตั้งมาด้วยการให้สัญญากับประชาชน และนโยบายนี้ถือเป็นนโยบายที่ชูธงในการหาเสียง
หากล้มสัญญาง่ายๆก็น่าเห็นใจนักการเมือง นักวิชาการทำได้เพียงให้ความเห็น ซึ่งก็เห็นใจประเทศชาติ อะไรที่ทำแล้วมีปัญหาก็อยากให้ทบทวน หากมีโอกาสที่จะปรับปรุง ลดขนาดโดครงการลง ยกเลิกเลยหรือใช้วิธีอื่นได้

ทั้งนี้ล่าสุด พบว่า รายชื่อนักวิชาการที่ร่วมกันลงชื่อ มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีรายชื่อที่เป็นทางการแล้วถึง 133 ราย และมีชื่อของ ศ.ดร. เมธี ครองแก้ว อดีต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมด้วย