นายสุทิน คลังแสงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจความพร้อมเครื่องบิน C-130 ที่ฝูงบิน 601 ซึ่งจะใช้ในภารกิจอพยพคนไทยและลำเลียงผู้ป่วยกลับจากประเทศอิสราเอล โดยกองทัพอากาศได้เตรียมเครื่องบิน C-130 ไว้ 5 ลำ ซึ่งสามารถบรรจุผู้โดยสารได้ประมาณลำละ 77คน และเครื่องบินแอร์บัส A- 340 จำนวน 1 ลำ ที่สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 130 คน
สำหรับเครื่องบิน C-130 จะใช้เวลาเดินทาง 9-10 ชั่วโมง เนื่องจากไม่สามารถบินตรงได้ต้องแวะเติมน้ำมันที่ประเทศอินเดีย ขณะที่เครื่องบินแอร์บัสสามารถบินตรงได้เลย แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอให้ประเทศอิสราเอลเปิดน่านฟ้าถึงจะเริ่มภารกิจได้ทันที
โดยการปฏิบัติการครั้งนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากฝูงบิน -ชุดปฏิบัติการพิเศษสำหรับดูแลด้านการอพยพแชะความปลอดภัย รวมถึงทีมแพทย์และทีมเวชศาสตร์การบิน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ ในการทำภารกิจอพยพคนไทยจากต่างประเทศมาก่อน
ภายหลังตรวจความพร้อม นายสุทิน กล่าวว่า วันนี้ตนมาตรวจความพร้อมของกองทัพอากาศกับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เพื่อมาดูว่าเรามีความพร้อมแค่ไหน กองทัพอากาศรับนโยบายมาเพื่อเตรียมความพร้อม ในด้านของการอพยพคนไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จะช่วยรัฐบาล วันนี้ได้เตรียมเครื่องบินไว้เป็น C-130 และแอร์บัส A- 340 นักบิน และผู้ปฏิบัติงานก็พร้อม นอกเหนือจากความพร้อมด้านๆครื่องบินแล้ว ก็ยังมีการเยียวยารักษาคนไข้ระหว่างเดินทางด้วย แต่ตอนนี้เหลือเพียงต้องรอให้ได้รับอนุญาตจากประเทศอิสราเอล จึงจะไปรับคนไทยได้ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังเดินดำเนินการกับอิสราเอลอยู่ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้ข้อสรุปออกมาว่าให้บินวันไหนก็บินได้ทันที
นายสุทินยังระบุด้วยว่าวันนี้เราจัดการทุกอย่างไว้พร้อมและมั่นใจว่าจะดูแลคนไทยได้ ตอนนี้เป็นห่วงสถานการณ์ที่นอกเหนือการควบคุมได้ และอาจรุนแรงขึ้นหรือลดลง ถ้ารุนแรงขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคนไทยกว่า 30,000 คน ถ้าคนไทยขอกลับกองทัพอากาศก็เป็นกองกำลังหลักอยู่แล้ว แต่เกรงว่าจะไม่ทันท่วงที จึงอาจขอความร่วมมือกับการบินไทยหรือการบินพลเรือนเข้ามาช่วย หรือหากจำเป็นกระทรวงการต่างประเทศ คุยกับอิสราเอลจบอาจจะใช้วิธีการเช่าเหมาลำบินกลับมาก่อนก็ได้ แต่ทั้งนี้กองทัพอากาศก็เตรียมพร้อมตลอดเวลา
ส่วนกรณีที่ขณะนี้มีคนไทยลงชื่อกลับมา 1,099 คน นั้น อาจจำเป็นต้องบินหลายเที่ยว หรือใช้วิธีเช่าเหมาลำเสริม วันนี้จากการประสานงานมาน่านฟ้ายังไม่ปิด หรือถ้าปิดก็ไปประเทศใกล้เคียง โดยตอนนี้ทำได้เพียงอพยพคนไทยจากเมืองที่อันตรายมากที่สุด มายังเมืองที่อันตรายน้อยที่สุด
ส่วนด้านความปลอดภัยทั้งเครื่องบินกองทัพอากาศและการดูแลผู้อพยพนั้นมี 100% ถ้าเสี่ยงจริงๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแผนใช้วิธีอพยพอย่างอื่น ซึ่งในภาวะสงคราม ได้สั่งให้เตรียมความพร้อมสูงสุด โดยในตอนนี้กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นเจ้าภาพในการประสานงานความพร้อมกับทุกฝ่าย
ส่วนสถานการณ์นี้ทำให้ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษหรือไม่นั้น นายสุทินกล่าวว่า ผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นต้องเฝ้าระวังทั้งประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นความขัดแย้งหรือการทำลายเป้าหมายทางธุรกิจกันบ้าง ซึ่งผลกระทบก็อาจเป็นไปได้ในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบ
พร้อมยืนยันว่าการช่วยเหลือไม่ได้ล่าช้า จากการตรวจสอบขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดอพยพคนของตนเองออกมาจากอิสราเอล ย้ำไทยได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ หากมีการปิดน่านฟ้ายาวก็จะใช้ประเทศใกล้เคียง ในการอพยพคนไทย เช่นจอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ มีการเตรียมแผนไว้ 3-4 ประเทศ ใกล้เคียง แต่ตอนนี้ที่ทำได้คืออพยพคนไทยย้ายจากเมืองที่อันตรายก่อน
ส่วนจุดยืนของกองทัพต่อเรื่องนี้อยู่ภายใต้รัฐบาล กระทรวงกลาโหมรับปฏิบัติ โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์
นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้แจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบถึงสถานการณ์ ในตะวันออกกลาง ว่า มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 700 คน มีผู้ที่ได้รับบัตรเจ็บกว่า 2,000 คน มีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันจำนวน 100 คน อย่างไรก็ตามได้รับรายงานว่า ทางการอิสราเอลสามารถช่วยคนไทยอีกส่วนให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้แล้ว แต่ยังขอสงวนไม่เปิดเผยสถานที่
สำหรับในส่วนของคนไทยมีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บ 9 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน ซึ่งตัวประกันตอนนี้ยังปลอดภัยดีทุกคน โดยที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการอพยพคนไทย ซึ่งมีผู้ประสงค์ขอเดินทางกลับจำนวน 1,437 คน ผู้ไม่ประสงค์กลับจำนวน 23 คน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำนวนแรงงาน 5,000 คนที่อยู่ในฉนวนกาซา อพยพออกมาหมดแล้วหรือไม่ เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์ยังสู้รบกันอยู่ และอยู่ระหว่างการทยอยนำตัวออกมา ซึ่งขออนุญาตไม่เปิดเผยจุดพักพิงของผู้อพยพเพื่อความปลอดภัย
ขณะที่ทางประเทศไทยเราพยายามทุกช่องทางในการที่จะอพยพคนไทย ออกมาจากอิสราเอล ล็อตแรกจำนวน 15 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จะเดินทางออกมาด้วยเครื่องบินพาณิชย์ สายการบินที่ให้บริการในอิสราเอลอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไทยจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เดินทางออกจากอิสราเอลในวันที่ 11 กันยายนและจะมาถึงประเทศไทยในวันที่ 12 กันยายน โดยกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคม และกระทรวงสาธารณสุข เตรียมการพร้อมรับคนไทย
ทั้งนี้ การอพยพคนไทยล็อตแรกที่ต้องใช้สายการบินพาณิชย์ เนื่องจากทางการอิสราเอลยังไม่อนุญาตให้ เที่ยวบินอื่นๆเข้าไปในพื้นที่ โดยเฉพาะเครื่องบินทหารของประเทศต่างๆ ดังนั้นวิถีทางต่อไปอาจจะต้องมีการประสานเครื่องบินพาณิชย์ของประเทศไทย บินไปอพยพคนไทย เรื่อง ล่าสุดได้พูดคุยกับทาง "การบินไทยแล้ว"
ทั้งนี้ ในส่วนของศพผู้เสียชีวิต ยังไม่สามารถนำร่างออกมาได้ เพราะต้องรอให้ทางการอิสราเอลเคลียร์พื้นที่ และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบตัวบุคคล แม้จะมีรายชื่อแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอลอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามเราตระหนักถึงเรื่องนี้ดี และคิดถึงช่องทางพูดคุยกันตลอด
สำหรับการช่วยเหลือตัวประกัน นายจักรพงษ์ กล่าวว่า เราประสานสถานทูตต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ ซึ่งจะพยายามติดต่อให้มีการปล่อยตัวพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งตอนนี้การเจรจาเป็นไปในทิศทางบวก และยืนยันว่าตัวประกันยังปลอดภัยดี
นายจักรพงษ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เพิ่มสายฮอตไลน์จาก 30 คู่สายเป็น 60 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่คอยรับโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเพิ่ม LINE และ Facebook เพื่อคอยประสานงานและแจ้งความเคลื่อนไหว นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสนับสนุนเพิ่มเติมณกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในสัปดาห์นี้เพื่อดูแลแรงงานที่จะอพยพกลับไทย เพราะขณะนี้การอพยพค่อนข้างลำบาก
ส่วนข้อกังวลที่แรงงานไทย ในอิสราเอลหากเดินทางกลับมาแล้วจะเสียสิทธิ์จากนายจ้างที่อิสราเอลหรือไม่และทางการไทยจะให้ความช่วยเหลือยังไงต่อไป นายจักรพงษ์ ยืนยันว่า กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งทางการอิสราเอล เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์
นาวาอากาศตรี ภาณุพงษ์ จันทร์ศรีทอง รองผู้บังคับฝูงบิน 601 เปิดเผยถึงความพร้อมปฏิบัติภารกิจอพยพคนไทยในอิสราเอล ว่าขณะนี้ในส่วนของฝูงบินได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการบิน รวมถึงอากาศยาน ซึ่งการวางแผนปฏิบัติงานมีความคืบหน้า รอเพียงการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงกลาโหมว่าจะใช้แผนไหนในการปฏิบัติการบิน เนื่องจากสถานการณ์ในอิสราเอลยังไม่นิ่ง รวมถึงยังไม่ทราบสนามบินปลายทางแน่ชัด หากมีความชัดเจนก็จะเตรียมเส้นทางการบินและแผนการบินต่อไป
แต่เบื้องต้น C-130 จะทำการบินไปยังประเทศอินเดียเพื่อเติมน้ำมันก่อน เนื่องจากสมรรถนะของเครื่องบิน C-130 ไม่สามารถบินตรงไปยังอิสราเอลหรือประเทศใกล้เคียงได้ จากนั้นจะไปจอดรับประชาชนในจุดที่กระทรวงการต่างประเทศประสานมา
ทั้งนี้ฝูงบินเคยมีประสบการณ์จากการอพยพคนไทยในซูดานใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่มีความท้าทาย เป็นการเดินทางระยะไกล และเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความรุนแรง โดยจะนำข้อผิดพลาดและประสบการณ์จากครั้งนั้นมาปรับปรุงให้การวางแผนการบินมีความราบรื่นและบรรลุภารกิจได้ด้วยดี
ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการปฎิบัติภารกิจเนื่องจากสถานการณ์ในอิสราเอลยังไม่คลี่คลายนั้น นาวาอากาศตรีภาณุพงษ์ ระบุว่าเนื่องจากอิสราเอลประกาศเป็นภาวะสงคราม แนวทางในการปฏิบัติงานอาจเป็นการบินไปรอรับคนไทยจากประเทศใกล้เคียง เช่น จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ หรือเกาะไซปรัส ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ในแต่ละวัน ว่าจุดไหนมีความปลอดภัยหรือสะดวกมากที่สุด ส่วนหากมีคนไทยต้องการอพยพเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะต้องเพิ่มเที่ยวบิน ซึ่งเบื้องต้นแต่ละเที่ยวบิน รองรับได้ประมาณ 400 กว่าคน หากมีจำนวนผู้อพยพหลักพัน ก็อาจใช้ 2 เที่ยวบินสำหรับแต่ละฝูงบิน เพื่อนำคนไทยกลับมาให้ได้ทุกคน
ทั้งนี้นาวาอากาศตรี ภาณุพงษ์ ยังฝากถึงคนไทยในอิสราเอลว่ากองทัพอากาศมีความพร้อมทั้งบุคลาการ และอากาศยาน พร้อมปฏิบัติภารกิจ ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อได้รับการสั่งการ ขอคนไทยในอิสราเอลไม่ต้องเป็นห่วง ยืนยัน ใจถึงใจ ไปทันที ตามที่กองทัพอากาศได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้
นาวาอากาศเอกหญิง สุวิสาส์ ศุขตระกูล รอง ผู้อำนวยการศูนย์ลำเลียงทางอากาศสายแพทย์ สถาบันเวชศาสตร์การบิน หนึ่งในบุคลากรที่จะเดินทางร่วมภารกิจอพยพคนไทยในอิสราเอล เปิดเผยความพร้อมด้านการแพทย์ว่า ขณะนี้ทางทีมแพทย์และสถาบันเวชศาสตร์การบิน ได้จัดกำลังสำหรับร่วมภารกิจไว้ 3 ชุด ใน 1 ชุดประกอบด้วยแพทย์ 1 คน /พยาบาล 1 คน/เวชกิจฉุกเฉิน 1 คน /นักจิตวิทยา 1 คน พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับประจำเครื่องบินแต่ละลำ โดยมีการเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง หากมีการร้องขอเพิ่มก็พร้อมจัดทีมเสริมทันที
ซึ่งการลำเลียงทางอากาศ มีความแตกต่างกับภาคพื้น โดยเฉพาะเรื่องความกดอากาศ ทำให้ออกซิเจนในเครื่องน้อยลง หากมีผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ อาจเกิดภาวะพร่องออกซิเจนได้ง่าย ออกซิเจนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไป รวมถึงเรื่องของแก๊สในร่างกายที่ขยายตัว อาจจะมีปัญหาในผู้ป่วยผ่าตัด ส่วนเรื่องเสียงก็มีผลกระทบต่อผู้ป่วยมากกว่าภาคพื้น
สำหรับสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษในภารกิจอพยพประชาชนจากอิสราเอล คือข้อมูลรายละเอียดของผู้บาดเจ็บ หรือผู้ป่วย เพราะจะสามารถเตรียมอุปกรณ์-เครื่องมือแพทย์ได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะออกซิเจน แต่ยืนยันว่าจะมีการเตรียมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ ระยะทางจากไทยถึงอิสราเอลค่อนข้างไกล ใช้เวลาเดินทาง กว่า 10 ชั่วโมง และต้องมีการหยุดเติมน้ำมัน 1-2 ชั่วโมง จากการพูดคุยกับนักบิน พบว่าอาจจะใช้เวลาถึง 18 ชั่วโมง หากผู้ป่วยอาการไม่หนักมากก็มีความพร้อมในการรับมือ แต่หากเป็นผู้ป่วยอาการวิกฤต เป็นไอซียูเคส สิ่งที่น่าห่วงคือจำนวนออกซิเจนที่จะต้องนำขึ้นไป แต่ถ้าหากได้ข้อมูลก่อนว่ามีคนไข้ลักษณะไหนบ้างก็พร้อมตลอดเวลา อีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือภารกิจของเครื่องบิน C-130 ยังมีผู้โดยสารอื่น ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วย จึงต้องหารือกับผู้บังคับบัญชาอีกทีว่า สามารถติดเปลสำหรับรองรับผู้ป่วยได้เท่าไหร่ เบื้องต้นติดไว้ 5 เปล พร้อมย้ำว่าจะเตรียมความพร้อมไปให้มากที่สุด รอเพียงน่านฟ้าเปิดเท่านั้น
ทั้งนี้นาวาอากาศเอกหญิง สุวิสาส์ ยืนยันว่าทีมแพทย์และเวชศาสตร์การบิน เคยมีประสบการณ์ลำเลียงผู้ป่วยหลายในสถานการณ์ เช่น เหตุการณ์สึนามิที่จัฃหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ /เหตุการณ์ผู้ป่วยจากการพิษหน่อไม้ปี๊บ ที่จังหวัดน่าน ซึ่งครั้งนั้นมีการลำเลียงผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 17 เคส รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 และไม่นานมานี้คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกีและซูดาน พร้อมย้ำว่าไม่ต้องห่วง มีความพร้อมและประสบการณ์ในการดูแลอพยพคนไทย 100%