"ทูตไทยในอิสราเอล" ตอบปมแรงงานไทย โพสต์ถูกขายต่อ-บังคับให้ทำงานในภาวะสงคราม แจง ไม่ใช่ขายต่อ เป็นการช่วยเหลือออกมาจากพื้นที่เสี่ยง นำไปฝากไว้กับนายจ้างหรือโมชาฟที่ปลอดภัย ให้ได้ทำงานต่อ-มีรายได้ วอนเข้าใจสถานการณ์ ยืนยันเร่งช่วยแรงงานไทยในอิสราเอล แต่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเป็นโซนตามความเสี่ยง -​ หวัง 11 ตัวประกันยังมีชีวิต-ปลอดภัย ยอมรับตอนนี้ไม่มีข้อมูล คนที่ถูกจับไป ยังปลอดภัยดีหรือไม่

วันที่ 10 ต.ค. 66 นางพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล แถลงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล จากสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง ว่า สถานเอกอัครราชทูต ได้ขอจัดลำดับความเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสูงสุดก่อน เนื่องจากมีแรงงานไทยหลายคน ประสงค์ขอเดินทางกลับจำนวนมาก จึงต้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเดินทางกลับก่อน พร้อมยืนยันว่า สถานเอกอัครราชทูตไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามทุกวิถีทาง ในการระดมสรรพากรกำลังติดตาม และติดต่อกับแรงงานไทยทุกคน แต่เนื่องจากในอิสราเอลขณะนี้ อยู่ในภาวะสงคราม และแบ่งโซนพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซา การช่วยเหลือแรงงานไทย รวมถึงชาวอิสราเอล และชนชาติอื่น ๆ จึงต้องช่วยเหลือไปทีโซน โดยสถานเอกอัครราชทูต ได้ประสานกับทางการอิสราเอลเป็นระยะ ๆ เมื่อทราบว่า มีคนไทยติดอยู่ในพื้นที่ใด ก็ขอให้ช่วยอพยพออกนอกพื้นที่ ซึ่งอิสราเอลพยายามให้ความช่วยเหลือตามโซนพื้นที่ จึงขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจข้อจำกัดที่มีด้วย

ส่วนกรณีมีแรงงานไทย ได้ออกมาระบุผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า ยังรอรับการช่วยเหลือนั้น สถานทูตไทยก็ได้แจ้งไปยังทางการอิสราเอลให้ช่วยนำกำลังอพยพออกมา ซึ่งทางการอิสราเอลก็จะจัดลำดับไปตามโซน แต่ต้องใช้เวลาเพราะอยู่ในสถานการณ์สงคราม

เอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีฟฯ ยังยืนยันถึงแรงงานไทยที่เตรียมเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ว่า สถานเอกอัครราชทูต จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ทั้งเอกสาร อาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้สามารถเดินทางขึ้นเครื่องได้ เว้นจะมีเหตุสุดวิสัยที่มีการปิดสนามบิน

ส่วนความปลอดภัย หรือพื้นที่ที่แน่ชัดที่แรงงานไทย 11 คนที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้น เอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีฟ ยอมรับว่า ยังไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว แต่ยืนยันได้ ว่า แรงงานไทยที่ถูกจับตัวไปเป็นตัวประกัน มี 11 คน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด แต่ทั้งกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล และกองทัพอิสราเอล ก็ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่า ตัวประกันทั้งหมดถูกจับไปยังพื้นที่ใด หรืออีกทางหนึ่งคือ ทราบแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากถือเป็นปฏิบัติการเพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือ แต่มั่นใจว่า ทุกฝ่ายไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามประสานทุกช่องทาง ทุกประเทศอย่างใกล้ชิด รวมถึงกองทัพอิสราเอล และกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ก็ให้คำมั่นจะดูแล และให้ความช่วยเหลือคนอิสราเอล และตัวประกันชาติอื่น ๆ ที่ถูกจับตัวไปอย่างเท่าเทียมเสมือนเป็นประชากรชาวอิสราเอล จึงหวังว่า ตัวประกันชาวไทย จะได้รับความช่วยเหลือออกมาพร้อมกับชาติอื่น ๆ โดยเร็ว และจะยังคงมีชีวิตอยู่

เมื่อถามว่า เริ่มมีแรงงานถูกบังคับให้ทำงานต่อทั้งที่เพิ่งหนีจากภัยสงคราม และมีบางส่วนถูกขายให้กับนายจ้างอื่น เอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีพ กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานกับอิสราเอล เพื่อนำแรงงานออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ดังนั้น จึงมีการนำแรงงานไปฝากไว้กับนายจ้างอื่นในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้แรงงานได้ประกอบอาชีพต่อ ไม่ให้ขาดรายได้ และให้ถือว่าเป็นการย้ายงาน โดยยอมรับว่า เข้าใจถึงความรู้สึกของแรงงานไทย ที่เพิ่งหนีภัยสงครามมา จึงได้ขอความร่วมมือทางการอิสราเอลให้เวลาแรงงานไทย ได้พักฟื้นจิตใจก่อน

"ได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการนำแรงงานไทยออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัย ขอทำความเข้าใจว่า ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ ไม่ได้มีพื้นที่มากนัก การย้ายจะนำไปฝากไว้กับโมชาฟที่ปลอดภัย ถือเป็นการย้ายงาน หรือย้ายสถานที่ทำงาน แต่แรงงานอาจมีความรู้สึกว่า เขาเพิ่งหนีภัยสงครามออกมา ทำไมต้องทำงานเลย สถานทูตได้แสดงถึงความกังวลต่อทางการอิสราเอล จึงขอให้มีช่วงพัก หรือช่วงเบรก ขณะที่อิสราเอลมองว่า การให้แรงงานได้ย้ายงาน เพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพต่อไป" เอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กล่าว

ส่วนการขนย้ายร่างผู้เสียชีวิตนั้น เอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีฟฯ ชี้แจงว่า ขณะนี้ ทางการอิสราเอล ได้จัดลำดับความสำคัญ และเร่งช่วยเหลือผู้ที่มีชีวิต และติดในพื้นที่เสี่ยงภัยก่อน เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร การพิสูจน์ยืนยันผู้เสียชีวิต จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วนัก ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลเมื่อ 3 ปีก่อน ที่มีแรงงานไทยเสียชีวิตด้วย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมน้อยกว่านี้นั้น ทางการอิสราเอล ก็ยังต้องใช้เวลาในการยืนยันตัวตน และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกตัวตนเสียชีวิต เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือชดเชย ซึ่งมีหลายขั้นตอน ไม่ให้เกิดความผิดพลาด ดังนั้น ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตขณะนี้มากกว่า 500 คนทั่วอิสราเอลแล้ว จึงเชื่อว่า จะยังไม่สามารถนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาประเทศได้รวดเร็ว และเพื่อรักษาประโยชน์ของญาติผู้เสียชีวิต ที่ทางการอิสราเอล จะให้สิทธิประโยชน์กับผู้เสียชีวิตด้วย

นอกจากนี้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวิฟ ยอมรับว่าสำหรับตัวประกันที่ถูกจับกุมตัวซึ่งได้รับรายงานจากนายจ้าง เบื้องต้นพบว่ามีเพียง 11 คนเท่านั้นส่วนกระแสข่าวที่ออกมาระบุว่ามีถึงหลัก 100 คน นั้นจากการตรวจสอบพบว่าเป็นแรงงานจากชาติอื่นๆร่วมด้วย พร้อมยอมรับว่าตอนนี้ตัวประกันซึ่งเป็นแรงงานชาวไทย ทางการทูตก็ยังไม่ทราบว่าถูกจับกุมตัวไปไว้ในพื้นที่ไหน แต่ก็จะพยายามเต็มที่ในการเจรจาขอปล่อยตัว ในทุกช่องทางพร้อมภาวนาขอให้ทุกคนปลอดภัย