แรงงานไทยในอิสราเอล ดีใจได้กลับบ้าน แม้อยู่ห่างพื้นที่สงคราม แต่ยังได้ยินเสียงปะทะอยู่เป็นระยะ
11 ต.ค. 66 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสายการบินที่จากประเทศอิสราเอล เดินทางมาประเทศไทย คือ สายการบิน ELAL (แอลอัล) ที่ออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียน กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อคืนนี้ มาถึงประเทศไทยในเวลาประมาณ 11.50 น. โดยการสายการบินนี้มีแรงงานไทยที่ไปทำงานการเกษตร ทางตอนเหนือและกลางของประเทศอิสราเอลเดินทางกลับมาด้วย
นายวีระศักดิ์ วงศ์อินตา หรือ นิด ทำงานอยู่ชาว อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น 1ในแรงงานไทยที่ไปทำงานประเทศอิสราเอล เปิดเผย ความรู้สึกครั้งแรกที่เดินทางถึงประเทศไทยว่ารู้สึกดีใจ ตนไปทำงานฟาร์มวัวในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งสถานการณ์ปกติและที่ได้เดินทางกลับมาวันนี้ เพราะอยู่ทำงานครบสัญญา 5 ปี ครึ่ง จองตั๋วล่วงหน้าไว้กลับ 10 กว่าวันแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดี
นายวีระศักดิ์ บอกอีกว่า ที่ขอนแก่นมีเพื่อนแรงงานเสียชีวิตหลายคน รู้สึกเสียใจและสงสาร ที่อิสราเอลมีเพื่อนแรงงานเสียชีวิตเยอะแต่ข่าวไม่ออก บางพื้นที่เข้าไปไม่ถึงก็มี เห็นคลิปและข่าว รู้สึกใจหาย แสดงความเสียใจกับครอบครัว เพื่อนแรงงานที่สูญเสียด้วย
ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย ต้องใช้ชีวิตอยู่แบบระแวง เพราะได้ยินเสียงยิงกันเป็นระยะส่วนใหญ่ และจะชอบยิงกันตอนกลางคืน ทั้งเสียงระเบิดเสียงปืน รถถัง แคมป์คนงานที่พักอาศัยอาศัยอยู่ห่างจากพื้นที่สู้รบประมาณ 100 กิโลเมตร แต่นายจ้างก็มีแจ้งให้ไปหลบอยู่ในบังเกอร์ ซึ่งเป็นหลุมหลบภัยเวลามีเสียงปะทะ
ส่วนที่มีการบอกว่าการให้ความช่วยเหลือจะเลือกช่วยเฉพาะกลุ่มนั้น นายวีระศักดิ์ บอกว่า ทางอิสราเอลให้ความช่วยเหลือได้เท่าจะช่วยได้เบื้องต้น อย่างบางพื้นที่ที่ปลอดภัย นายจ้างก็จะเอาแรงงานไทยไปฝากให้อยู่ก่อนไม่ใช่เอาไปขายต่ออย่างที่เป็นข่าว
นายวีระศักดิ์ ยังเล่าถึงการใช้ชีวิตของแรงงานไทยในอิสราเอลว่า ”เงินดีได้เยอะกว่าทำงานบ้านเราอยู่ไทยได้วัน300- 400 ที่อิสราเอลได้ค่าจ้างวันละ 2,000 บาท และตลอด 5 ปีที่ทำงานที่นั่นก็ไม่เคยเจอกับเหตุการณ์สู้รบที่รุนแรงเท่าครั้งนี้ และไม่คิดว่าจะยิงคนไทยแบบไม่เลือกหน้า และได้ยินคนบอกว่าเข้ามาก็ยิงกระหน่ำเลย ชีวิตแรงงานเลือกไม่ได้ ว่าจะได้ทำงานพื้นที่ไหนอยู่ที่บริษัทจัดหางาน ที่จะจัดพื้นที่ให้ไปลง คนที่ไปอยู่ทางภาคใต้ติดชายแดน หรือ ฉนวนกาซา ก็ต้องรับความเสี่ยง แม้รู้ว่าชีวิต ไม่ปลอดภัยก็ต้องยอมเสี่ยงทำเพราะเงิน”
ส่วนนายรัฐพงษ์ ไทยแท้ แรงงานไทยอีกหนึ่งคน ที่เดินทางกลับมาพร้อมเที่ยวบินนี้ บอกว่า รู้สึกดีใจอย่างมาก ที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยอย่างปลอดภัย ซึ่งเดินทางกลับมาตามกำหนดครบสัญญา 5 ปีพอดี แล้วได้จองตั๋วล่วงหน้าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
นายรัฐพงษ์ บอกเหตุผลว่าที่เลือกไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลเนื่องจากต้องการที่จะมีเงินเก็บ เพราะรู้มาว่าทำงานที่นั่นได้ค่าตอบแทนที่ดี เพื่อที่จะกลับนำเงินมาสานต่อความฝันทำสิ่งที่ตัวเองตั้งใจไว้
ซึ่งจุดที่ตนอยู่เป็นทางตอนกลางซึ่งค่อนข้างอยู่ห่างจากจุดที่ปะทะ แต่ในช่วงกลางคืนก็มักจะได้ยินเสียงปืนเสียงระเบิด ซึ่งจุดที่อยู่นั้นก็ค่อนข้างที่จะปลอดภัย
นายรัฐพงษ์ ยังบอกอีกว่า มีเพื่อนแรงงานที่รู้จัก ก็อยากที่จะเดินทางกลับมา แต่ก็ยังคงลังเล และขอดูสถานการณ์ต่อไปอีกซักระยะก่อน
นอกจากนี้ยังมี นายพิเชษฐ ทองใกล้ คนไทยที่เดินทางไปแสวงบุญตามรอบพระเยซู บอกว่า ตัวเองไม่ได้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลแต่มักจะเดินทางไปตามรอยพระเยซูทุกๆปีที่เมืองเยรูซาเลม อย่างครั้งนี้ก็ไปในช่วงเทศกาล “อยู่เพลิง” ทุกครั้งที่ไปก็จะใช้ชีวิตอยู่ประมาณ 10 วันซึ่งจุดที่ตนอยู่นั้นมีความปลอดภัยสูงสุด เพราะอยู่ห่างจากจุดที่มีการปะทะกันหรือฉนวนกาซาประมาณ 100 กิโลเมตร แต่ยอมรับว่าได้ยินเสียงปืนเสียงระเบิด แต่ด้วยความที่จุดปะทะอยู่ออกไปทางชายแดน จึงค่อนข้างไม่มีความกังวล และทุกครั้งที่จะมีการปะทะกันเกิดขึ้น ก็จะมีสัญญาณแจ้งเตือนจากทางการมาตลอด เพื่อให้มีการเตรียมพร้อมเข้าหลุมหลบภัย และระมัดระวังตัวเอง
ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ตนเดินทางกลับทุกอย่างก็เกือบจะกลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบสนามบินก็มีกำลังทหารตรึงกำลังดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ทางประเทศอิสราเอลไม่ได้มีการปิดน่านฟ้า ยังมีเครื่องบินสามารถบินเข้าออกได้ แต่หากสายการบินไหนที่จะต้องบินเข้าไปใกล้กับพื้นที่จุดปะทะก็อาจจะต้องถูกยกเลิกเที่ยวบินไป
นายพิเชษฐ ยังกล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบการร้องขอความช่วยเหลือจากแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะรีบเดินทางกลับ เพราะจุดที่มีการปะทะและมีคนไทยอยู่ ทางกลุ่มกองกำลังติดอาวุธหามักจะเลือกใช้วิธีทำร้ายแบบไม่เลือกหน้าเลือกชนชาติ
ส่วนกระแสข่าวที่มีออกมาว่าคนไทยได้รับการดูแลให้ความช่วยเหลือเป็นลำดับท้ายท้ายนั้น ส่วนตัวคิดว่า ทางเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างเท่าเทียมกัน แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว การดูแลอาจไม่ทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติหรือคนในประเทศอิสราเอลเอง