นายกฯ ย้ำเร่งให้ความช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล สั่งทุกสายการบินเตรียมพร้อมอพยพทันทีที่สามารถผ่านน่านฟ้าประเทศต่าง ๆ ได้ เตรียมหารือทูตอิสราเอลพรุ่งนี้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล หรือศูนย์ Rapid Response Center : RRC ที่กระทรวงการต่างประเทศในวันนี้ (12 ต.ค.) ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งแรก ภายหลังเสร็จสิ้นการเดินทางกลับจากการเดินทางเยือนต่างประเทศ โดยใช้เวลาการประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง โดยยืนยันว่า รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีความพยายามในการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล โดยเข้าใจความเป็นห่วงของญาติพี่น้องแรงงาน และความกังวลของคนไทยในอิสราเอล แต่ยอมรับว่า การอพยพขณะนี้ ยังมีความล่าช้า และมีปัญหาในการทำการบิน เพราะถือเป็นเที่ยวบินพิเศษ ต้องผ่านน่านฟ้าถึง 10 ปรเทศ ต้องใช้เวลากว่า 1 เดือนในการขอผ่านน่านฟ้าประเทศต่าง ๆ แต่กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เร่งดำเนินให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง จึงได้สั่งการให้ทุกเที่ยวบินของไทย เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ (12 ต.ค.) ซึ่งรวมไปถึงสายการบินพาณิชย์ ทั้งนกแอร์ จำนวน 2 ลำ, แอร์เอเชีย 2 ลำด้วย ส่วนการบินไทยในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.) จะได้คำตอบว่า จะสามารถส่งเครื่องบินมาช่วยภารกิจได้หรือไม่ เพราะสายการบินไทย ไม่มีเที่ยวบินไปกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการหาแนวทาง อาจให้การบินไปรอประเทศใกล้เคียงที่มีเส้นทางการบินก่อน และรออพยพคนไทยกลับมาหลังจากมีการเคลื่อนย้ายออกมาจากพื้นที่อีกครั้ง
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงด้วยว่า เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ สามารถนำคนไทยในพื้นที่มายังพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเตรียมการอพยพกลับประเทศได้ ประมาณวันละ 200 คน หรือถือเป็นวันละเที่ยวบิน ซึ่งต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะอพยพหมด จึงจะมีการหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้การอพยพรวดเร็วขึ้น เช่น การขนแรงงานไทยไปประเทศที่ 3 เพื่อพักรอก่อนเดินทางกลับประเทศไทย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องเอกสารหนังสือการเดินทางของแรงงาน ที่บางคนหนังสือเดินทางหาย หรืออยู่กับนายจ้าง ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านแดนได้ ดังนั้น จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่จากไทย และสถานทูตใกล้เคียงไปช่วยงานเอกสารต่าง ๆ เพิ่มเติม พร้อมยืนยันว่า ปัญหางานเอกสารต่าง ๆ ทั้งแรงงานไม่มีหนังสือเดินทางติดตัว หรืองานเอกสารต่าง ๆ จะต้องเป็นเรื่องรองโดยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี ยังยอมรับด้วยว่า ได้แรงงานเป็นสูงสุด และจะต้องนำคนไทยกลับมาให้ได้ มีการพิจารณาถึงการอพยพคนไทยออกมาทางบก แต่ก็พบปัญหาที่จะต้องผ่านพื้นที่ฉนวนกาซาก่อน ซึ่งอันตราย ส่วนทางเรือก็อาจติดปัญหาที่จะต้องผ่านพื้นที่อันตรายเช่นเดียวกัน จึงวิงวอนสายการบินอื่น ๆ ที่มีเครื่องบินเหลืออยู่ จะมาช่วยภารกิจในการอพยพคนไทยกลับมายังประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ ก็พร้อมช่วยประสานให้สามารถบินผ่านน่านฟ้าประเทศต่าง ๆ ได้
ส่วนการเจรจาเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวประกันที่เป็นคนไทยนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า มีการเจรจาอย่างตลอดเวลาทุก ๆ ช่องทางที่สามารถทำได้ โดยไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด และยังมีความหวัง เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศคู่ขัดแย้ง พร้อมยอมรับว่า เป็นเรื่องที่เสียใจที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศคู่ขัดแย้ง แต่กลับมียอดผู้สูญเสียสูงสุด และเชื่อว่า หลาย ๆ ประเทศจะให้ความเห็นใจประเทศไทย และอนุญาตให้ผ่านน่านฟ้า เพื่อช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลได้
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการเคลื่อนย้ายร่างคนไทยผู้เสียชีวิตในอิสราเอล โดยยอมรับเข้ากังวลของใจญาติ เพื่อนำมาประกอบพิธีทางศาสนา และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ได้พยายามกดดันทางการอิสราเอลตลอด แต่ยังจะต้องรอทางการอิสราเอลชันสูตร เพื่อให้สามารถออกหลักฐานรับค่าชดเชยกรณีการเสียชีวิตได้ โดยยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะพยายามติดตามให้ดีที่สุด
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการหารือกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า จะมีการพูดคุย และขอความเห็นใจในการให้ความช่วยเหลือ เพราะประเทศไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด จึงจะขอให้ทางการอิสราเอล ช่วยเจรจาปล่อยตัวประกัน การลำเลียงผู้เสียชีวิต และการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่อันตรายสู่สนามบินเพื่อเตรียมอพยพกลับ รวมถึงการขอเปิดน่านฟ้า เพื่อให้เครื่องบินสามารถไปรับคนไทยกลับมาได้ นอกจากนั้น จะขอให้ดูแลแรงงานไทยในพื้นที่ และยังถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน ทั้งที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย และจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานไทยด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการขอความร่วมมือกับสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ในการส่งคนไทยกลับมาประเทศให้เพิ่มขึ้นเพิ่มเติมว่า อยู่ระหว่างการพูดคุย เพราะทางการอิสราเอล มีช่วงเวลาการไปรับคนอิสราเอลในต่างประเทศ ซึ่งในจังหวะที่เครื่องบินออกจากอิสราเอล มีการเจรจาขอให้คนไทยบินออกไปประเทศปลายทาง เพื่อให้รัฐบาลสามารถส่งเครื่องบินออกไปรับอีกทางหนึ่งได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ กำลังพิจารณาอีกหลาย ๆ วิธี และภาวนาไม่ให้มีการปิดน่านฟ้า หรือสถานการณ์รุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ การประชุมในดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ ผู้แทน และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมด้วยอย่างพร้อมเพรียง อาทิ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, กองบัญชาการกองทัพไทย, กองบัญชาการกองทัพบก, กองบัญชาการกองทัพอากาศ, กองบัญชาการกองทัพเรือ, อธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีการเชื่อมสัญญาณการประชุมทางออนไลน์ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย, สถานกงสุลใหญ่ไทยในบางประเทศแถบตะวันออกกลาง, กระทรวงสาธารณสุข, กองบัญชาการกองทัพไทย, กองทัพบก และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม