"วราวุธ" ย้ำ พม. ร่วม กต. เร่งช่วยเหลือครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอลเยียวยาผลกระทบจิตใจ พร้อมสร้างมิติใหม่เปิดตัวล่ามภาษามือระหว่างการให้สัมภาษณ์
วันที่ 16 ต.ค. 66 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล ว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา จนถึงเมื่อวานในช่วงเช้า กระทรวง พม. ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ต้อนรับคนไทยที่กลับจากอิสราเอลหลายเที่ยวบิน และยังได้จัดนักสังคมสงเคราะห์จิตวิทยาและสหวิชาชีพใน 2 ส่วนหลัก คือที่ จุดคัดกรองสนามบินสุวรรณภูมิ และที่ พม. แต่ละจังหวัด ตามที่มีรายชื่อแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอล
โดยได้ขอให้เจ้าหน้าที่ พม.เข้าไปพูดคุยกับครอบครัวแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งหมด 18 จังหวัด เพื่อประเมินความต้องการ และให้คำปรึกษา 87 ราย และ พิจารณาให้เงินสงเคราะห์ 13 ราย รวมทั้งมีการทำแผนช่วยเหลือรายบุคคลเป็นกรณีไปทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้
นอกจากนี้ ยังจัดชุดทีมไปเยี่ยมพูดคุยกับครอบครัวแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บ และยังถูกจับเป็นตัวประกัน พร้อมเปิดฮอตไลน์ของกระทรวงพม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือครอบครัวแรงงานไทย และพร้อมจะให้คำปรึกษา
ทั้งนี้ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิต รัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับความสูญเสีย การนำร่างผู้เสียชีวิต กลับไทยต้องใช้เวลาในเรื่องของการพิสูจน์อัตลักษณ์ ซึ่งทั้งไทยและทางอิสราเอลก็ได้เร่งประสานงานอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน พม. จะประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อเร่งช่วยเหลือแรงงานไทยและครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในอิสราเอล ซึ่งเจ้าหน้าที่ของพม. มีเพียงพอในการทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อย่างใกล้ชิดในการเยียวยาครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอล
นายวราวุธ ยังย้ำถึงการทำงานของ พม. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ที่มีการตั้งคณะทำงาน 6 คณะ คือคณะทำงานด้านเด็กและเยาวชน / ผู้สูงอายุ /บทบาทสตรี และความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมทั้งคนพิการ คนไร้บ้าน และสถานการณ์ขอทาน คาดว่าภายในปีนี้จะเห็นผลงานที่ชัดเจนของคณะทำงานทั้ง 6 คณะ
ทั้งนี้ ระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายวราวุธ ได้พาล่ามภาษามือมาด้วย เพื่อสื่อสารกับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน โดยนายวราวุธ ระบุว่า เป็นแนวคิดที่ต้องการให้ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารของ พม. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่บกพร่องทางการได้ยินสามารถรับรู้ข่าวสารอย่างถูกต้อง ซึ่งภาษามือมีหลายลักษณะทั้งระดับชุมชนโรงเรียนและราชการ รวมทั้งประเทศในแต่ละโซนก็มีการใช้ภาษามือแตกต่างกัน โดยในวันนี้เป็นการสื่อสารภาษามือที่เป็นภาษากลางที่คนบกพร่องทางการได้ยินสามารถเข้าใจได้