เครื่องบินกองทัพอากาศ อพยพ คนไทยในอิสราเอล จำนวน 136 คนกลับถึงไทยเรียบร้อยแล้ว วอนรัฐเร่งพาคนที่เหลือกลับบ้าน
แรงงานไทยในอิสราเอลที่เดินทางมาด้วยเที่ยวบินพิเศษของกองทัพอากาศไทย ซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟ ในเวลา 22.31 น. วันที่ 18 ตุลาคม 2566 (ตามเวลาท้องถิ่น) ตรงกับเวลาไทย 02.30 น. (19 ต.ค.) เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง (บน.6) ในเวลา 14.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยมี พลอากาศโท ชัยนาท ผลกิจ รองเสนาธิการทหารอากาศ ให้การต้อนรับ
สำหรับเที่ยวบินนี้ มีแรงงานไทยเดินทางกลับมาทั้งหมด 136 คน เป็นชาย 132 คน หญิง 4 คน โดยไม่มีผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บ
โดยเมื่อเดินทางถึง บน.6 แรงงานทั้งหมด ได้เข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ตรวจร่างกาย และคัดกรองสภาพจิตใจ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข มาตั้งจุดบริการ จากนั้นจะเข้าสู่การตรวจสอบสิทธิเพื่อรับเงินชดเชย 15,000 บาทจากกระทรวงแรงงาน รวมถึงสิทธิอื่นๆ
จากนั้นแรงงานทั้งหมด ได้ทยอยขึ้นรถบัสไปลงที่สถานีกลางบางซื่อเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา
สำหรับการอพยพคนไทยในเที่ยวบินที่ 3 กองทัพอากาศวางแผนนำ A340-500 จำนวน 1 เครื่อง ปฏิบัติภารกิจอีกครั้ง ในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ออกเดินทางในเวลา 09.00 น.
โดยนายบัณฑิต หวงสัจจะกุล อายุ 29 ปี ชาวจังหวัดตาก ชาวจังหวัดตาก เปิดเผยว่าตนเองได้ ทำงานอยู่ที่อิสราเอลเป็นเวลา 2 ปี โดยเล่าถึงวันที่เกิดเหตุ (7 ต.ค.) ว่ากลุ่มฮามาสได้เข้าโจมตีตั้งแต่ 06.00 น. โดยโจมตียิงจรวดมาประมาณ 5 พันกว่าครั้ง ตนเองต้องเข้าไปพักในที่หลบภัย ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่ากลัว ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน
ส่วนการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่นั้นมองว่าค่อนข้างเร็วโดยมีศูนย์อพยพรองรับคนไทยก่อนที่จะส่งตัวกลับมา ซึ่งตนได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี
ส่วนจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลหรือไม่นั้น ยอมรับว่าอยากกลับไป ต้องคิดอีกนาน ซึ่งรายได้ที่ตนเองงานที่นั่นอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นบาทและยังมีหนี้สิน 1-2 แสนบาท แต่หากจะไปทำงานต่างประเทศก็อยากไปประเทศที่สงบและไม่มีสงคราม พร้อมกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าดีใจมากที่ได้กลับมาประเทศไทย
ขณะที่นายยอด แซ่ย่าง อายุ 31 ปี ชาวจังหวัดตาก เล่าว่าตนเองทำสวนเกษตรอยู่ใกล้พื้นที่ฉนวนกาซา หลังจากเจอเหตุการณ์นี้รู้สึกหวาดกลัวและจะไม่กลับไปอีกเด็ดขาด
พร้อมบอกด้วยการโจมตีรอบนี้ถือว่าหนักสุดๆ มีการโจมตีทั้งอากาศและพื้นราบมีคนไทยเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งถูกยิงและถูกเผา ซึ่งคนที่เสียชีวิตอยู่ใกล้ฉนวนกาซาเกินไป ตนเองได้ทราบว่ามีแรงงานถูกบุกยิงและเผาก็รับไม่ได้ และเปิดเผยด้วยว่าคนไทยที่เสียชีวิตที่อิสราเอลเสียชีวิตมากกว่าที่ออกข่าว และมีบางส่วนถูกบังคับให้ทำงานต่อ
และฝากถึงคนไทยที่อยู่ที่อิสราเอลว่าคนที่อยู่ก็ขอให้สู้ต่อไป อยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละคนว่าจะอยู่หรือกลับบ้านก่อน ทั้งนี้ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่พร้อมฝากด้วยว่าขอให้เร่งรับแรงงานไทยที่เหลือกลับเมืองไทยด้วยเช่นกัน