อธิบดีราชทัณฑ์ แจง "ทักษิณ" รักษาตัวต่อที่ รพ.ตร. หลังได้รับการผ่าตัด เนื่องจากการรักษายังไม่สิ้นสุด
รายงานข่าวแจ้งว่า กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจงประเด็นที่สื่อให้ความสนใจ กรณี “นายทักษิณ ชินวัตร” ที่อยู่ในความควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งรับตัวไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 และต่อมามีอาการป่วยฉุกเฉินต้องส่งตัวออกรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลตำรวจ ในคืนดังกล่าว โดยจะครบระยะเวลา 30 วัน ที่ส่งตัวออกไปรักษาพยาบาลภายนอก ในวันพรุ่งนี้ (21 ก.ย.)
ในการนี้ กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 กำหนดไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังพักรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมราชทัณฑ์ได้รับหนังสือจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รายงานความเห็นแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจ ระบุเหตุผลความจำเป็นของ นายทักษิณ ที่จำเป็นต้องรักษาตัวเกิน 30 วัน เนื่องจากการรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะได้เข้ารับการผ่าตัด และยังคงต้องรักษาตัวอยู่ต่อ ณ โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ ในห้วงระยะเวลาปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมราชทัณฑ์มีสถิติผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 30 วัน จากเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศกว่า 140 ราย และในเดือนนี้มีสถิติ จำนวน 14 ราย ที่เสนอมายังกรมราชทัณฑ์ (รวมกรณีนายทักษิณ) และกรมราชทัณฑ์ได้เห็นชอบตามความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษาเสนอมา โดยที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ดำเนินการตามความเห็นแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย และคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ ส่วนรายละเอียดของผู้ป่วยทุกราย ตามกฎหมายไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยให้ทราบได้
ต่อมาเวลา 16.52 น. กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวแจกสื่อมวลชน โดยระบุว่า กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้นายทักษิณ ชินวัตร รักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกครบ 60 วัน ในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งความเห็นจากแพทย์โรงพยาบาลตำรวจผู้ทำการรักษา เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนรายละเอียดของการเจ็บป่วยนั้น เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย
ทั้งนี้ รายละเอียดตามกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ระบุว่า การพักรักษาตัวเกินกว่า 30 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนการพักรักษาตัวเกินกว่า 60 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ และการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ
กรมราชทัณฑ์ ระบุอีกว่า ดังนั้น ในกรณีนายทักษิณที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเกินกว่า 60 วัน ขณะนี้อธิบดีได้มีหนังสือเห็นชอบ พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยกรมราชทัณฑ์มีสถิติสะสมการส่งผู้ต้องขังป่วยออกรักษาพยาบาลนอกเรือนจำนานเกิน 30 วันขึ้นไป ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน รวม 149 ราย แบ่งเป็น เกินกว่า 30 วัน 115 ราย เกินกว่า 60 วัน 30 ราย และเกินกว่า 120 วัน 4 ราย (ข้อมูลสถิติกองบริการทางการแพทย์)