จากกรณีนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พาผู้เสียหายเป็นชายชาวเมียนมา 3 คน ไปร้องทุกข์เพื่อขอความเป็นธรรม เพราะถูกชายอ้างตำรวจสายตรวจ สภ.บ่อวิน จ.ชลบุรี รุมทำร้ายร่างกาย และรีดไถเงินทั้ง 3 คน รวมเป็นเงิน 100,000 บาท โดยมีว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่อง

หลังยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพจสายไหมต้องรอดพาผู้เสียหายทั้งสามคนลงพื้นที่ไปดูจุดเกิดเหตุ เป็นอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี



นายซอ อายุ 34 ปี บอกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นวันที่ 22 ตุลาคม เวลาประมาณ 1 ทุ่ม ตัวเองกับเพื่อนขับรถมาจากย่านบางนา กรุงเทพฯ จะไปหาแฟนของเพื่อนที่ ต.บ่อวิน พอไปถึงจุดหมาย ตัวเองกับเพื่อนได้จอดรถที่หน้าอพาร์ทเมนต์แฟน ระหว่างนั้นมีชาย 2 คน อ้างตัวเป็นตำรวจสายตรวจ สภ.บ่อวิน มาเรียกตรวจประวัติของตัวเองกับเพื่อน ว่าเป็นชาวเมียนมาที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตัวเองก็ยืนยันว่ามีเอกสารถูกต้องทุกอย่าง

หลังจากนั้นชายคนดังกล่าวพาตัวเองกับเพื่อนไปที่ สภ.บ่อวิน พอไปถึงปรากฏว่า มีตำรวจอีก 3 นาย อยู่ในห้องสอบสวน รวมกันทั้งหมด 5 คน ที่พยายามเข้ามาสอบสวนตัวเอง มีตำรวจนายหนึ่งอ้างตัวเป็นหัวหน้าชุด แต่งกายด้วยกางเกงสีกากีของตำรวจและใส่เสื้อยืดสีขาว



จากนั้นตัวเองนำเอกสารให้ตำรวจดู ผลปรากฏว่าตำรวจก็ยังไม่ยอมปล่อยตัวกลับบ้าน มิหนำซ้ำพอตัวเองพยายามโต้เถียง ว่าตัวเอง “ไม่ได้กระทำผิดและตำรวจก็ไม่สามารถที่จะมาจับกุมแบบนี้ได้” จึงถูกตำรวจจับใส่กุญแจมือ และยึดโทรศัพท์มือถือ จากนั้นก็ลงมือทำร้ายตัวเองกับเพื่อนทั้งกระทืบ เอาเท้าเหยียบหัว และใช้ท่อนเหล็กทุบตีเข้าที่หลังจนมีบาดแผลจนถึงทุกวันนี้

หลังจากที่ตำรวจ พยายามตรวจสอบเอกสารของชาวเมียนมาทั้ง 3 คน ปรากฏว่าทุกคนมีเอกสารการทำงานถูกต้องตามกฏหมาย จึงทำให้ไม่สามารถเอาผิดเกี่ยวกับรายงานผิดกฎหมายได้ ตำรวจจึงพยายามสอบถามถึงการเดินทางมาที่อพาร์ทเมนต์ดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในแรงงานก็ยอมรับว่าให้เพื่อนช่วยพามาหาแฟนที่อพาร์ตเมนต์แห่งนี้ ตำรวจจึงมองว่ามีการว่าจ้างให้เพื่อนพามาหรือไม่ เพราะเท่ากับว่านายซอคนที่เป็นคนขับรถมาให้ ถือเป็นการรับจ้างขับรถแท็กซี่มาส่งเพื่อนแรงงานชาวเมียนมาด้วยกัน ซึ่งเป็นอาชีพต้องห้ามที่แรงงานชาวเมียนมาไม่สามารถทำได้และเป็นการรับจ้างที่ไม่ตรงกับใบอนุญาตทำงาน



จากนั้นตำรวจเริ่มโมโหหนัก และรุมจับตัวเองกดหัว เอาเท้าเหยียบหัว และข่มขู่เอาโทรศัพท์มือถือตัวเองกับเพื่อนไปดูรหัสแอปฯ ธนาคาร พอเห็นว่าจำนวนเงินเยอะมากกว่า 5 หมื่นบาท โดยตำรวจ ที่อ้างตัวเป็นหัวหน้าชุดบอกว่า ยังไงแรงงานชาวเมียนมา ทั้งสามคนก็มีความผิดและต้องถูกดำเนินคดี แต่ถ้าหากไม่อยากถูกดำเนินคดี เหมาให้จ่ายเงินมาในราคาเหมาเหมา 3 คน เป็นเงิน 100,000 บาท

โดยตำรวจอ้างว่า แต่ละคนมีเงินในบัญชีอยู่แล้ว แต่ให้ไปโอนรวมไว้ที่บัญชีของนายซอ โดยนายซอโอนเงินเข้าบัญชีนายซอ 59,000 บาท ส่วนนายยูโอนเงินเข้าบัญชีนายสอ อีก 5,000 บาท ส่วนในบัญชีนายศมีเงินอยู่ในบัญชีแล้ว 36,000 บาท เท่ากับว่ามีเงินรวมในบัญชีนายซอ 100,000 บาท



หลังจากนั้นเอทีเอ็มใช่ที่อ้างตัวเป็นล่ามภาษาเมียนมา ได้นายซอเจ้าของบัญชีไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มโดยถอนไปทั้งหมด 4 ครั้ง

ตู้ที่ 1 ถอนเงินสดออกมา 30,000 บาท

ตู้ที่ 2 ถอนเงินสดออกมา 2 รอบรอบแรกจำนวนเงิน 20,000 บาท ส่วนรอบที่สองถอนเงินในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันเป็นจำนวน 30,000 บาท

ตู้ที่ 3 ถอนเงินสดออกมา 20,000 บาท

รวมเป็นเงินทั้งหมด 100,000 บาท พอได้เงินแล้วตำรวจก็ปล่อยตัวทั้ง 3 คนออกมา พร้อมบอกว่า “มีอะไรโกรธ หรือติดใจกับพี่หรือไม่คงไม่มีนะ เพราะพี่ทราบที่อยู่ของพวกเราทั้งหมด ถ้าคราวหน้ามาบ่อวินอีกให้มาหาเดี๋ยวพี่จะเลี้ยงกาแฟ”



กล้องวงจรปิดจับภาพนาทีสายตรวจขี่รถนำหน้ารถกลุ่มผู้เสียหาย คาดถูกพาตัวไปทำการรีดเงิน

ทีมข่าวเราตรวจสอบกล้องวงจรปิดของอพาร์ตเมนต์แห่งนี้พบว่า เวลา 18.34 น. ของวันที่ 22 ตุลาคม จะเห็นรถยนต์ของผู้เสียหายขับเข้ามาในอพาร์ทเมนต์ ส่วนกล้องวงจรปิดตัวอื่น ๆ ทางด้านอพาร์ทเมนต์แจ้งว่า กล้องที่มีอยู่รอบอพาร์ทเมนต์เสียหมดเลย รวมทั้งบริเวณที่เกิดเหตุด้วย สามารถดูได้เพียงตัวเดียว และดูได้ถึงวันที่ 14 ตุลาคม เท่านั้น

นักข่าวของเราจึงไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม เป็นบริเวณร้านอาหารแห่งหนึ่งหลังจากออกจากอพาร์ตเมนต์ เวลา 19.16 น. จะเห็นรถจักรยานยนต์ของชายสองคนที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจสายตรวจ ขี่นำหน้ารถยนต์ของกลุ่มผู้เสียหาย หากลองสังเกตที่รถจักรยานยนต์คันนี้มีลักษณะคล้ายไฟไซเรนเปิดมาด้วย ผ่านไปไม่ถึง 1 นาทีจะเห็นรถยนต์ของผู้เสียหายขับตามหลังรถจักรยานยนต์คันนี้มาติด ๆ



ผกก.สภ.บ่อวิน ขอตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อน ยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับชาวเมียนมา

ล่าสุดทีมงานสายไหมต้องรอด พาผู้เสียหายทั้ง 3 คนเดินทางมาที่สถานีตำรวจภูธรบ่อวิน เพื่อเข้าทำการแจ้งความเอาผิดกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ โดยมี พ.ต.อ.เอนก สระทองอยู่ ผกก.สภ.บ่อวิน เป็นผู้รับฟังข้อมูลเบื้องต้นด้วยตัวเอง ก่อนทำการตรวจสอบสภาพร่างกายของผู้เสียเพื่อดูบาดแผลก่อนส่งมอบผู้เสียหายทั้ง 3 คน ไปให้การกับพนักงานสอบสวน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการส่งตัวทั้ง 3 คนไปตรวจร่างกาย

พ.ต.อ.เอนก เปิดเผยว่า จากกรณีนี้ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับชาวเมียนมาทั้ง 3 คน ซึ่งหลังจากนี้จะขอตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อน แต่ยอมรับว่าพิกัดที่ผู้เสียหายได้แจ้งมาว่าเป็นจุดที่ถูกพาตัวไปทำการรีดเงินนั้นเป็นเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจบ่อวินจริง ซึ่งเป็นป้อมของตำรวจสายตรวจที่แยกออกไปปฎิบัติหน้าที่



โดยแนวทางหลังจากนี้ จะมีการสอบปากคำผู้เสียหาย พร้อมกับลงบันทึกประจำวัน ก่อนพาไปตรวจร่างกาย และนำข้อมูลมาประกอบกัน ส่วนตำรวจสายตรวจที่เข้าเวรวันนั้นก็จะพยายามตรวจสอบอย่างรอบด้าน ซึ่งปกติที่พักของสายตรวจจะมีตำรวจสายตรวจที่อยู่ในเขตนั้น ๆ ไปพักหลังจากปฎิบัติหน้าที่

หากผู้เสียหายสามารถจดจำใบหน้าของตำรวจสายตรวจที่กล่าวอ้างได้ ขั้นตอนต่อไปก็อาจจะนำพาตำรวจสายตรวจในพื้นที่ สภ.บ่อวิน มาให้ผู้เสียหายชี้เพื่อหาตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ถ้าลูกน้องของตัวเองกระทำการไม่ถูกต้อง ก็จะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน

ฉาวตำรวจไถเงินแสนแรงงานพม่า ช่อง8 เจอหลักฐานมัด เจ้านายอ้ำอึ้งคงใช่แต่ขอสอบ