พิพัฒน์ ยืนยัน มีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะฐานของค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เผยสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ รอ สภาพัฒน์ ธปท. เคาะ เงินเฟ้อ-การเติบโตของเศรษฐกิจ ร่วมด้วย
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้นั้นมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะฐานของค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน โดยจะพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรอข้อมูลของแต่ละจังหวัด เพื่อประชุมหารือที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ จากนั้นจึงจะเป็นการหารือของคณะกรรมการค่าจ้างในรูปแบบไตรภาคี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ ต้องสอบถามไปยังธนาคารแห่งประเทศและสภาพัฒน์ฯ ด้วยว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยปี 2566 คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อเอามาคำนวณได้
“เรายังยืนยันว่า จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเริ่มมีการฟื้นตัว ทั้งนี้ ต้องระวังในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้นทุนและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น โดยอาจไม่ใช่ตัวเลข 400 บาททั่วประเทศ เนื่องจากฐานค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นไปตามกฎหมายแรงงานในมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และสภาพเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม และการเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคีด้วย ซึ่งการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นั้น ได้มีการใช้สูตรการคำนวณประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยตั้งแต่ปี 2560 ส่งผลให้ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดมีอัตราที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน” นายพิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจะพิจารณาให้รอบด้านครบทุกมิติ เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานทุกภาคส่วนอยู่ได้ให้มากที่สุด เพราะจุดมุ่งหมายของกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล คือ เราให้ความสำคัญในการทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม มีรายได้ที่เป็นธรรมและเหมาะสม สามารถพัฒนาชีวิตของตนเองได้ มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2554 - 2565 ที่ผ่านมา พบว่า กระทรวงแรงงาน มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ดังนี้
1. ปี 2556
- ทุกจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 300 บาท
2. ปี 2560
- จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดวันละ 310 บาท คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดวันละ 300 บาท คือ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี
3. ปี 2561
- จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด วันละ 330 บาท คือ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
- จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดวันละ 308 บาท คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
4. ปี 2563
- จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดวันละ 336 บาท คือ ชลบุรี และภูเก็ต
- จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดวันละ 313 บาท คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
5. ปี 2565
- จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดวันละ 354 บาท คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต
- จังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดวันละ 328 บาท คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี