วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.45 น. เกิดเหตุรถบรรทุก 10 ล้อ บรรทุกดินเหนียวจากการขุดดินสำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้าง โดยล้อด้านหลังหล่นลงบนพื้นที่ถนนที่ทรุดตัว บริเวณถนนสุขุมวิท 64/1 จากเหตุดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน เป็นคนขับรถไรเดอร์และคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งพื้นที่จุดเกิดเหตุจะเป็นถนนที่มีแผ่นปูนทับบนท่อของการไฟฟ้านครหลวง เป็นโครงการสำหรับการนำสายไฟลงดิน ซึ่งท่อดังกล่าวอยู่ด้านล่างของถนน
เหตุการณ์นี้ ตำรวจต้องปิดการจราจรฝั่งมุ่งหน้าพระโขนง และเปิดเลนพิเศษฝั่งตรงข้าม 1 ช่องทาง รถติดสะสมถึงแยกบางนา ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ารถบรรทุกดังกล่าวมีสติ๊กเกอร์รูปดาวสีเขียว-ขาว และมีสัญลักษณ์อักษรภาษาอังกฤษ B ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเกี่ยวพันกับเรื่องส่วยรถบรรทุก ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้หรือไม่
ในเวลาต่อมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่พร้อมรองผู้ว่าฯ และผู้อำนวนการเขตพระโขนง มาดูที่เกิดเหตุและประชุมทันทีถึงเหตุที่เกิดขึ้น โดยนายชัชชาติ เผยว่า เบื้องต้นได้ให้ตำรวจและเทศกิจ เร่งประชาสัมพันธ์เลี่ยงเส้นทางจราจรจุดที่เกิดเหตุ เส้นสุขุมวิท 64/1 เขตพระโขนง เพราะคาดว่ากระบวนการเคลียร์ถนน จะใช้เวลาถึงช่วงเย็นนี้ ส่วนปัญหาตอนนี้คือกำลังวางแผนที่จะเอาเครนยกรถบรรทุกออก แต่ต้องระมัดระวังตัวฝาหรือแผ่นเหล็ก 4 แผ่น ที่อาจจะตกไปด้านล่าง หากยกรถบรรทุกออก ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นฝาแผ่นเหล็กไม่เสียหายมากนัก ยังสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ไม่ต้องมาหล่อฝาใหม่อีกครั้ง จะทำใหม่แค่คานเหล็กตรงกลางที่เสียหาย สามารถเอามาตัดคานใหม่ไปใส่ทดแทนได้ ซึ่งถือว่าไม่ยาก
เบื้องต้นมอบหมายให้สำนักการโยธา ดำเนินการในส่วนนี้ ยอมรับว่าต้องใช้เวลาเพราะกระบวนการคิดต้องละเอียด โดยการประสานความร่วมมือระหว่าง กทม. การไฟฟ้านครหลวง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องมีการเรียกเจ้าของไซส์งานของรถบรรทุกคันดังกล่าวเข้ามาหารือด้วย
สำหรับการขุดบ่อลักษณะนี้ เป็นขั้นตอนการนำสายไฟฟ้าลงดิน ของการไฟฟ้านครหลวง ทั่วกรุงเทพมีประมาณ 700 บ่อ เฉพาะบนถนนสุขุมวิทมีทั้งหมด 27 บ่อ ส่วนอุบัติเหตุในครั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 เรื่อง คือ การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือ น้ำหนักของรถบรรทุก จากการประเมินด้วยสายตาอาจจะขนดินเลน ประมาณกว่า 30 ตัน แต่มาตรฐานที่ตั้งไว้ไม่เกิน 25 ตัน แต่ต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
ส่วนกฎหมายของตำรวจระบุให้รถบรรทุกสามารถวิ่งในเมือง หรือวงแหวนชั้นในได้ตั้งแต่ 10.00 - 15.00 น. ซึ่งถือว่าเขตนี้อยู่นอกวงแหวนสามารถวิ่งได้ แต่หลังจากนี้จะต้องไปทบทวนว่าหลังจากนี้จะตั้งกฎอย่างไร ซึ่งมองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับเวลา แต่เป็นเรื่องของน้ำหนักเกิน ซึ่งเรื่องของการช่างน้ำหนักรถ กรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะ กทม. ไม่มีเครื่องมือด้านนี้ ก็จะต้องไปหารือเพื่อหาแนวทางป้องกันต่อไป ทั้งนี้ไม่อยากตั้งด่านตรวจน้ำหนักบนท้องถนนเพราะส่งผลกระทบให้การจราจรติดขัด ก็จะเน้นไปตรวจสอบที่ไซส์งานก่อสร้างเป็นหลัก ว่ารถบรรทุกที่วิ่งออกมามีการบรรทุกน้ำหนักที่เกินมาตรฐานหรือไม่ หากเกินก็จะถูกลงโทษให้หยุดการดำเนินการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหา เหมือนลักษณะเดียวกับมาตรการลดฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตพื้นที่ไซส์งานการก่อสร้างด้วย
ด้านนายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายสุนัน ภัคดีธนวาณิช ผู้จัดการโครงการรับเหมา ย่านสุขุมวิท 81 โซน 2 (เสื้อลายทางสีฟ้า) กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าบ่อที่เกิดเหตุมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เมตร ลึก 15 เมตร แต่ตัวคานเหล็กที่รองรับระหว่างแผ่นคอนกรีตและปากบ่อ 1 เส้น และคานเหล็กมีความยาวเพียง 6 เมตร ทำให้ต้องเอาคานอีกตัวมาเชื่อมต่อให้พอดีบ่อ จึงคาดว่าเป็นสาเหตุทำให้แผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่ 4 แผ่นที่ปิดปากบ่อทรุดตัวลง ซึ่งต้องไปคุยกับวิศวกรว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร แต่คนขับมีความผิดเรื่องบรรทุกน้ำหนักเกินแน่นอน
ส่วนการแก้ไขหลังจากนี้จะนำเครน 100 กิโลกรัม มายกรถบรรทุกออกพร้อมดินที่อยู่บนรถ และจะนำรถเครื่องชั่งมาชั่งรถบรรทุกด้วยว่าบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ จากนั้นจะนำคานเหล็กมาซ่อมแซม โดยครั้งนี้จะใช้เพิ่มเป็น 2 คานเหล็กวางคู่กัน และจะเอาหัวเชื่อมวางไขว้กัน
แท็กซี่เปิดนาทีรอดตาย รถลอยกระแทกพื้น
ขณะที่นายสวาสดิ์ อายุ 48 ปี คนขับรถแท็กซี่หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บปากแตก และรถเสียหาย เล่าว่า ขณะเกิดเหตุตนขับรถแท็กซี่ ตามรถบรรทุกคันดังกล่าว มาในช่องทางด้านซ้าย ส่วนรถบรรทุกขับมาในช่องทางกลาง เมื่อรถบรรทุกคันดังกล่าวขับผ่านจุดเกิดเหตุ และเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ด้านหน้ารถของตนเองนั้น เลื่อนเข้าไปอยู่ตรงแผ่นคอนกรีตพอดี ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับ ที่แผ่นปูนงัดตัวขึ้น และทำให้ตีบริเวณช่วง ได้ของ รถส่วนหน้าของรถตนเองพอดี ทำให้ บริเวณด้านหน้ารถ ช่วงห้องเครื่องยนต์
คนขับรถบรรทุก ยอมรับขับครั้งแรก เที่ยวแรก ไม่ทราบว่าน้ำหนักเกินหรือไม่
ด้านนายศักดิ์มลคง อายุ 29 ปี คนขับรถบรรทุก เล่าว่า ตนเองขับออกมาจากไซส์งานก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ในซอยสุขุมวิท 64/2 เพื่อบรรทุกดินไปยังปริมณฑล กำลังบรรทุกดินออกมาเพียงไม่กี่ร้อยเมตร เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุ แผ่นคอนกรีตบริเวณล้อหลังก็ได้ทรุดตัวลง ทำให้หน้ารถลอยขึ้น ตนเองตกใจจึงรีบลงจากรถ และเห็นว่ารถแท็กซี่ที่ขับตามหลังมาเสียหาย 1 คัน ส่วนไรเดอร์ที่ได้รับบาดเจ็บตนไม่เห็น
โดยนายบอย บอกว่า ตนขับรถบรรทุกเป็นครั้งแรก และเป็นเที่ยวแรก ไม่ทราบว่าน้ำหนักเกินหรือไม่ เพราะตอนตักดินใส่รถไม่ได้มีการชั่งน้ำหนัก แต่ยืนยันว่า ไม่ได้บรรทุกเกิน คาดว่าน่าจะหนักที่ประมาณไม่เกิน 20 ตัน
วิโรจน์ จี้ตำรวจตอบ สิบล้อตกหลุมโยงส่วยสติ๊กเกอร์
ต่อมาเวลา 18.30 น. นายวิโรจน์ ลักคณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ตรวจสอบสองประเด็นบริเวณถนนสุขุมวิทที่ทรุดตัววันนี้ คือเรื่องสติ๊กเกอร์ส่วย (ดาวสีเขียว ตัว B) ว่า สติกเกอร์ดังกล่าวเป็นสติ๊กเกอร์ส่วยหรือไม่ ซึ่งนายวิโรจน์เองก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะสติ๊กเกอร์ดังกล่าวมีการเปลี่ยนรูปแบบและสีตลอดเวลา
อีกประเด็นคือการนำดินเลนที่เป็นหลักฐานในรถบรรทุกไปทิ้งยังไซด์งานก่อสร้าง โดยนายวิโรจน์ ได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ประกอบ อินทร์เกตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง ซึ่งได้ตั้งคำถามถึงการที่ตำรวจปล่อยปะละเลยให้มีการขนดินออกจากจุดเกิดเหตุและนำไปทิ้งไซด์งานก่อสร้างใกล้เคียง
ต่อมา ในวิโรจน์เดินทางมายังไซด์งานก่อสร้างดังกล่าว เพื่อพูดคุยกับตัวแทนผู้รับเหมาถึงการนำดินมาทิ้ง โดยคุณเฉลิมพล พรมทอง ตัวแทนผู้รับเหมา บอกว่าดินถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี มีผ้าใบคลุมกันความชื้นออก ซึ่งกรณีนี้นายวิโรจน์บอกว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้รับเหมาก่อสร้าง บอกต่อหากมีความจริงใจก็สามารถนำดินมาชั่งพรุ่งนี้ได้เลย แต่จะดีมากถ้าหากนำมาชั่งวันนี้ เพราะมีเครื่องชั่งน้ำหนักจากกรมทางหลวงมารอแล้ว ซึ่งตัวแทนผู้รับเหมาก็พร้อมยินดีให้ตรวจสอบ