"จุรินทร์" ไขก๊อก"รักษาการ หน.ปชป." หลังกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง ผุดชื่อ "นราพัฒน์" รักษาการหัวหน้าพรรคแทน ทั้งที่ยังไม่ได้เลือกใหม่ จนเกิดปมปัญหาใครเป็นรักษาการตัวจริง
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคแล้ว โดยแจ้งผ่านกลุ่มไลน์กรรมการบริหารพรรค สาเหตุสืบเนื่องจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง มีการระบุชื่อนายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ซึ่งเป็นเอกสารแจ้งอัพเดทสถานะพรรคการเมืองแต่ละพรรค แม้ว่า ล่าสุดทางกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลแล้ว แต่เพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยประเด็นข้อกฎหมาย และให้การจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคราบรื่น นายจุรินทร์ จึงแสดงเจตจำนงลาออกจากรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. โดยเพิ่งลาออกวันนี้ (14 พ.ย.) เวลา 14.07 น.
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายนราพัฒน์ ยังไม่ได้เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค เนื่องจากต้องมีการประชุม กก.บห.ก่อน โดย กก.บห.พรรค ต้องเป็นผู้พิจารณาเลือกรักษาการหัวหน้าพรรค เพื่อให้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคต่อไป
"เอกสารที่กองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองประกาศ คือ เมื่อวันที่ 21 ก.ย.66 ซึ่งประกาศก่อนที่นายจุรินทร์จะลาออก โดยเป็นการแจ้งข้อมูลพรรคการเมือง 82 พรรค ที่ดำเนินการอยู่ ส่วนใครยื่นเอกสารให้กองทุนฯ จึงมีการเปลี่ยนชื่อรักษาการหัวหน้าพรรคนั้น มองว่าเป็นการให้ข้อมูลของกองทุนฯเอง ส่วนข้อมูลผิดหรือไม่ คงตอบแทนกองทุนฯไม่ได้"นายราเมศ ระบุ
เมื่อถามว่า แปลกใจหรือไม่ที่เป็นชื่อของนายนราพัฒน์ ทั้งที่นายจุรินทร์ ยังไม่ได้ลาออก รวมถึงนายนราพัฒน์ ยังเป็นแคนดิเดตที่จะลงชิงหัวหน้าพรรคด้วย นายราเมศ กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากกว่า และไม่อยากให้นำมารวมกัน เพราะในส่วนของเอกสารที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงมา ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแต่ละครั้งจะมีรองหัวหน้าพรรค ซึ่งรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือจะอยู่ลำดับแรก และเมื่อนายจุรินทร์ลาออก จึงมีการแจ้งไปที่ กกต. และกกต.จึงแจ้งหนังสือกลับมายังพรรคว่า เมื่อนายจุรินทร์ลาออก ลำดับถัดไปคือนายนราพัฒน์ จาก 32 รายชื่อ เพราะเวลาเลือกตั้งภาคเหนือจะขึ้นเป็นอันดับที่ 1
เมื่อถามว่า เหตุใดจึงไม่โต้แย้ง นายราเมศ กล่าวว่า เราได้ทำการโต้แย้ง โดยทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งนายสรรเสริญ สมะลาภา รักษาการรองหัวหน้าพรรค ได้ชี้แจงไป และตนได้มีการตรวจกฎหมายสองฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีการระบุไว้ถึงกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองลาออก หรือเว้นว่างจากตำแหน่ง แต่ระบุไว้ ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัญธรรมนูญ ระบุไว้ว่าหากหัวหน้าพรรคลาออกกระบวนการต้องทำอย่างไร แต่กฎหมายที่พรรคการเมืองระบุไว้ให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ดังนั้น ต้องกลับมาดูข้อบังคับพรรคว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร ซึ่งของพรรคเราเขียนไว้ชัดเจนว่าหัวหน้าพรรคต้องรักษาการ
เมื่อถามว่า หลังจากที่แย้งไปแล้วกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า เราแจ้งไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ทราบ เพราะเรามั่นใจในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมายพรรคการเมือง และมั่นใจในเจตนารมณ์ข้อบังคับพรรคปชป. ว่านายจุรินทร์ ยังคงเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อแจ้งกกต.ไปแล้ว กกต.ก็รับทราบและไม่ได้มีข้อโต้แย้งกลับมา โดยเอกสารกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองฉบับล่าสุด วันที่ 12 ต.ค.66 มีการเว้นว่าง ไม่ได้ระบุชื่อใคร
"ผมเชื่อว่าคงเป็นความคลาดเคลื่อน ไม่อยากไปพูดว่ามีความผิดพลาดตรงไหน และเชื่อว่าทุกคนไม่ได้มีเจตนาร้าย ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของพรรคที่เราจะต้องมาพูดคุยกันในส่วนของข้อบังคับพรรค ว่าเรื่องนี้ระบุอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดข้อถกเถียงขึ้น แต่เคยมีการประชุม กก.บห.พรรคเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.66 ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเพื่อพูดคุยกัน และที่ประชุมมีมติให้นายจุรินทร์ยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค" นายราเมศ กล่าว
เมื่อถามว่าเมื่อนายจุรินทร์ ลาออกจากรักษาหัวหน้าพรรคในวันนี้(14 พ.ย.) ตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคก็จะเว้นว่าง ไม่ใช่นายนราพัฒน์ใช่หรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า ถูกต้อง แล้วคงต้องมีการไปพูดคุยกันในที่ประชุมกก.บห. ก่อนจะเข้าสู่ระเบียบวาระในส่วนการกำหนดวันเวลา สถานที่ องค์ประชุมที่จะมีเพิ่มหรือไม่เพิ่ม