นายกฯ ย้ำ 3 แนวทางในเวทีผู้นำเอเปค ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยง เชื่อมั่นจะเป็นแนวทางสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ฟื้นตัวได้ และสงบสุข
วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2566) เวลา 11.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ ศูนย์ประชุม Moscone Center นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) ในหัวข้อ “Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies” พร้อมร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 โดยก่อนการกล่าวถ้อยแถลงของ นายกฯ (ลำดับที่ 18 ต่อจากจีนไทเป ก่อน ปธน. เวียดนาม) นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกใน ค.ศ. 2023 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและเอเปค เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และสงบสุข โดยวานนี้ ได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนายกฯ เห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือแล้ว
โดยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายกฯ ได้เสนอ 3 มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อเอเปค
1. ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเอเปคมีความก้าวหน้าอย่างมากในปีนี้ จากโครงการมากกว่า 280 โครงการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายฯ นี้ ในขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge รวมถึงการจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ
2. เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง เอเปคสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมี WTO เป็นแกนกลางนั้น ถือเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายในการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป (the Thirteenth Ministerial Conference (MC13)) ซึ่ง ไทย ผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และ ไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นๆ ในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่
3. เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดยไทยกำลังเดินหน้าโครงการ Landbridge เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งยังได้อนุมัติวีซ่าฟรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ทอัพอีกด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียินดีกับสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรูเพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป