ศรีสุวรรณ จรรยา จี้ สตง. ให้ตรวจสอบ พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ขัดต่อกฎหมายและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อคลังรัฐ
วันที่ 20 พ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จะเข้าร้องผู้ว่าฯ สตง. เพื่อให้ตรวจสอบ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งขัดต่อกฎหมายและจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อการคลังรัฐ
นายศรีสุวรรณ เผยว่า ในช่วงของการหาเสียงพรรคเพื่อไทยยืนยันตลอดว่าโครงการนี้จะไม่กู้เงิน และมีการส่งเอกสารที่มาของเงินในการทำนโยบายต่อ กกต. แต่กลับมาบอกภายหลังว่าจะกู้นั้นเป็นการผิดคำพูด รวมทั้งอดีตผู้ว่าแบงค์ชาติหลายท่านก็บอกว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศได้
ทั้งนี้ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 142 กำหนดไว้ว่าจะกู้เงินได้ต้องเป็นเหตุเร่งด่วน ส่วนมาตรา 162 รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเงินการคลัง ตาม ม.53 ซึ่งเหตุการกู้เงินมี 4 ประการ
1. เรื่องเร่งด่วน
2. ความต่อเนื่อง
3. เหตุของปัญหาของเศรษฐกิจ
4. จัดทำงบประมาณรายปีไม่ทัน
โดยนายศรีสุวรรณมองว่าทั้ง 4 เหตุผลไม่เข้าเงื่อนไข แม้รัฐบาลพยายามอ้างว่ามีปัญหาวิกฤตเศรฐกิจ แต่หน่วยงานและนักวิชาการด้านเศรษฐกิจหลายท่านก็ออกมาบอกว่ายังไม่มีปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าว อีกทั้งรัฐบาลรีบเร่งในการแถลงนโยบายก่อนที่จะปรึกษากฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษากับรัฐบาลอยู่แล้ว ตามหลักเมื่อกฤษฎีกาเห็นชอบว่านโยบายนี้สามารถทำได้จึงค่อยเสนอเรื่องต่อรัฐสภา มองว่าเป็นการหาเสียงสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง
ส่วนการร้องวันนี้หาก สตง. ตรวจสอบแล้ว หากให้ความไปในทิศทางกับที่ตนร้อง จะมีการนำเรื่องไปบูรณากับ กกต. และประชาชนที่เคยร้องไปก่อนหน้านี้ เพื่อส่งเรื่องต่อไปยังรัฐสภา โดยชี้ว่าจะทำให้มีน้ำหนักในการตัดสินใจของรัฐสภาและ ครม. ในการโหวตเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. นี้
สำหรับกรณีที่ปีก่อนหน้านี้ก็เคยมีการกู้เงินมาก่อนแต่ไม่มีปัญหาอะไรนั้น นายศรีสุวรรณ เผยว่า ทุกรัฐบาลมีการกู้มาโดยตลอด แต่ก่อนหน้านี้เพดานการกู้เงินยังต่ำอยู่ อย่างเมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการกู้เยอะพอสมควร แต่ก็นำไปใช้จ่ายในช่วง COVID-19