ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. แถลงผลการกวาดล้างยาเสียสาวก่อนลอยกระทง ยึดของกลางกว่า 2 พันชิ้น มูลค่าเกือบ 2 ล้านบาท เตือนนักท่องราตรีให้ระวัง เที่ยวอย่างพอดีและมีสติ

วันที่ 24 พ.ย. 2566 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เภสัชกรหญิงวรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองยา ร่วมแถลงข่าวผลการปฏิบัติ กรณีระดมกวาดล้างผู้จำหน่ายยาปลุกเซ็กส์ ตรวจยึดของกลาง 80 รายการ ทั้งยาเสียสาว 106 ชิ้น , ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ 1,891 ชิ้น , ผลิตภัณฑ์สำหรับทากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ 169 ชิ้น , สารต้องสงสัยว่าเป็นสารเสพติดประเภทสารละเหย (ป็อปเปอร์) 220 ขวด , เซ็กส์ทอยและถุงยางอนามัย 470 ชิ้น มูลค่า 1.9 ล้านบาท



ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยว่าเป็นสารเสพติดประเภทสารระเหยหรือ ป๊อบเปอร์ มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และรักษาพิษจากไซยาไนด์

จากการตรวจสอบสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ นายอิสรพงษ์ อายุ 26 ปี , นายบุญ อายุ 31 ปี และนายพิทยา อายุ 30 ปี ในความผิดฐาน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 คือขายยาแผนปัจจุบันโดยได้รับอนุญาต , ขายยาที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา , ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบจดแจ้ง และขายวัตถุหรือสิ่งของลามก ซึ่งทั้งหมดให้การรับสารภาพ และให้เหตุผลว่าตอนแรกเป็นเด็กวิ่งรับส่งสินค้าประเภทนี้ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดจึงเปลี่ยนมาขายในออนไลน์แทน ทำมา 1-3 ปี ส่วนแหล่งที่มาคือในประเทศไทยย่านสุขุมวิท



พ.ต.อ.สุพจน์ เผยว่า ตำรวจสอบสวนกลางเฝ้าระวังกลุ่มยาชนิดดังกล่าวเรื่อยมา ประกอบกับวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. นี้ เป็นวันลอยกระทง หลังลอยกระทงบรรดาหนุ่มสาวก็จะไปสังสรรค์กัน อาจเป็นช่องว่างให้คนร้ายมีโอกาสใช้ยาดังกล่าวก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ร่างกาย หรืออาชญากรรมทางเพศ จากการตรวจสอบพบมีการขายยาดังกล่าวอยู่ในโซเชียล ฤทธิ์ของยาเหล่านี้จะรบกวนการทำงานของสมองทำให้มึนงง ง่วงซึม จำไม่ได้ชั่วขณะ หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป โดยใช้คู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ รูปแบบของยาเสียสาว มีรูปแบบสีใส และไม่มีกลิ่น หากหยดลงไปในน้ำจะไม่เห็นความแตกต่าง และหากได้รับสารโดยไม่ได้ตั้งใจก็สามารถตรวจสอบได้ จากการตรวจเลือดเพื่อยืนยันผลได้



เภสัชกรหญิง วรสุดา เผยว่า โดยทั่วไปยาทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตาม อย. จึงขอเตือนและต้องตระหนักว่าหากมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับ อย. ประชาชนจะมีความเสี่ยง การซื้อยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรเสมอ ดังนั้นการซื้อยาภายในอินเตอร์เน็ตอาจทำให้ไม่ปลอดภัยหรือถูกหลอกได้

ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ เผยว่า ยาดังกล่าวไม่มีทางได้ อย. แน่นอน เพราะสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ไม่มีการตรวจสอบ ด้านตำรวจสอบสวนกลางจะเพิ่มมาตรการอย่างเข้มข้น ในการตรวจสอบและล่อซื้อ และขอเตือนประชาชนเวลาไปเที่ยวให้ไปกับคนที่ไว้ใจ ไม่ทิ้งแก้วไว้ ดูแลอุปกรณ์ของตัวเอง อย่าเปิดโอกาสให้คนร้ายเอายามาใส่ หากจะท่องราตรีก็ขอให้ใช้ความระมัดระวัง อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี และมีสติ