พนักงานคุมประพฤติ ขับรถชนเก๋ง ขวางอุโมงค์ท่าพระ เดินเซถือป๋องเบียร์
พนักงานคุมประพฤติ ขับรถชนเก๋ง ขวางอุโมงค์ท่าพระ เดินเซถือป๋องเบียร์
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ท่าพระ รับแจ้งมีอุบัติเหตุรถยนต์ เฉี่ยวชนกันจนเกิดพลิกคว่ำ บริเวณอุโมงค์ท่าพระ มุ่งหน้าจาก ถนน จรัญสนิทวงศ์ มุ่งหน้าถนน รัชดาท่าพระ จึงรีบรุดจัดกำลังพร้อมประสานอาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเร่งรัดตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาสาสมัครมาถึงที่เกิดเหตุพบจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณเชิงลาดขาลงทางลอดอุโมงข้ามแยกใต้แยกท่าพระ ทิศทางมุ่งหน้ามาจากถนนจรัญสนิทวงศ์ มุ่งหน้าไปทางถนน รัชดาท่าพระ แขวง วัดท่าพระ เขต บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ซึ่งจุดเกิดเหตุดังกล่าวพบรถยนต์เก๋งสีขาว พลิกหงายล้อชี้ฟ้า เจ้าของรถเป็ยชายอายุประมาณ 50 -55 ปี ซึ่งเป็นพนักงานคุมประพฤติชำนาญการ อยู่ในอาการมึนเมา
นอกจากนี้ ใกล้กันยังพบกับรถเก๋งสีแดง ซึ่งมีนายกร เป็นเจ้าของรถจอดอยู่
จากการสอบถามคุณกร อายุ 49 ปี คนขับรถเก๋งสีแดง กล่าว่า ตนเองจอดรถซื้อของอยู่ข้างทางแล้วทางคู่กรณีมาจอดแล้วมาชนท้ายรถของตน พอตนเองจะเดินไปพูดคุยเคาะประตู 3-4 รอบ ก็ไม่ยอมออกมาคุยตนเองก็นึกในใจว่าเขาเมาหรือเป็นอะไรหรือเปล่า พอเขาออกมา แล้วเขาบอกว่าเขามีปืน ตนเองก็เลยถอยออกมา เพื่อมาขยับรถเดินหน้า และลงมาดูว่ารถของตนเองเป็นอะไรหรือเปล่า แต่พอดูแล้ว ว่าไม่เป็นอะไร ก็เลยรีบออกมา เพื่อจะไปทำงาน และจะรีบไปส่งแฟน แต่คู่กรณีก็ยังขับรถตามมาเปิดไฟเลี้ยวตามมา พอตนหลบเข้าซ้าย เขาก็หักรถมาชนเลย เหมือนกับเขาตั้งใจที่จะชนเลย ตนเองก็งง ตนเองยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีปัญหาอะไรกับเขา แล้วตนเอง ก็มาจอดอยู่ตั้งนานแล้ว จอดซื้อของจอดซื้อกับข้าว และก็รู้อยู่ ว่า รถของคู่กรณี มาจอดชนท้ายรถของตน และตนเอง ก็ยืนยันว่า ตนเองไม่เคยมีปัญหากับใครทั้งนั้น ตนเองก็เลยคาดว่าคู่กรณีเมาหรือเปล่า และ หลังจากคู่กรณี ชนท้ายรถของตนแล้ว ก็ไม่เคยลงมาคุยอะไรกันเลย นอกจากจะขับรถ ตามมาจี้ท้ายรถของตนอย่างเดียว
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวพนักงานคุมประพฤติชำนาญการคนขับรถเก๋งสีขาว ไปสอบถามเหตุการณ์เพิมเติมอย่างละเอียดที่ สน.ท่าพระ ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
แต่ระหว่างที่พนักงานคุมประพฤติชำนาญการคู่กรณี เดินขึ้นรถของเจ้าหน้าที่นั้น ปรากฏว่าเดินเซด้วยอาการมึนเมาในมือยังถือกระป๋องเบียร์ขึ้นไปบนรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
สำหรับกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ได้เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำกรณี “เมาแล้วขับ” โดยกำหนดบทลงโทษผู้เมาแล้วขับ ดังนี้ 1.ทำผิดครั้งแรก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท
2.ทำผิดซ้ำข้อหา "เมาแล้วขับ" ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท โดยศาลจะลงโทษจำคุก และปรับด้วย พร้อมถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
3. เมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ เสียชีวิต โทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที
ที่แท้คุมประพฤติซิ่งเก๋งชนคว่ำ ป่วยเบาหวาน
คืบหน้าจากเพจ Drama-addict (ดรามาแอดดิก) เปิดเผยว่า เคสพนักงานคุมประพฤติที่รถคว่ำ ผลตรวจออกมาแล้ว พบว่าสาเหตุของอุบัติเหตุไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ขณะขับรถเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ ไม่ได้ดื่มเหล้า ทั้งนี้หลังตำรวจควบคุมตัว ได้ขอตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ 2 รอบ ผลการเป่าไม่พบปริมาณแอลกอฮอล์
เพจดรามาแอดดิก ระบุด้วยว่า หลังเกิดเหตุตำรวจสังเกตว่า ผู้ก่อเหตุยังดูมึนงงไม่ได้สติ แต่ไม่มีกลิ่นเหล้า มีตำรวจคนหนึ่งเอะใจ คิดว่าอาจจะเป็นน้ำตาลต่ำในคนที่เป็นเบาหวาน (ซึ่งรักษาด้วยยาหรือฉีดอินซูลินอยู่) เพราะเคยเจอเคสแบบนี้มาก่อน เลยให้ดื่มน้ำหวาน อาการก็ดีขึ้น พอนำส่งโรงพยาบาลก็พบว่าเป็นโรคเบาหวานจริง
“เจ้าตัวเป็นเบาหวานมานานแล้ว และอาการหนัก ต้องใช้อินซูลิน วันที่เกิดเหตุ ฉีดอินซูลินก่อนออกจากบ้านมา แล้วระหว่างขับรถ ก็วูบไปเลย เพราะน้ำตาลต่ำ น่ากลัวจริง คนที่เป็นเบาหวานต้องระวัง ส่วนกระป๋องเบียร์ในรถตามข่าว เขาซื้อไว้จะไปดื่มที่บ้านตอนดูบอล แต่ไม่ได้ดื่มตอนขับรถ เคสนี้ เป่าแอลกอฮอล์ขึ้น 0”
เรื่องน้ำตาลตก จนเกิดอุบัติเหตุ เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุยานยนต์ที่พบบ่อยมากทั้งในไทย และต่างประเทศ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดจะสูง จึงต้องรักษาด้วยการคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้ยาและฉีดอินซูลิน ซึ่งการใช้ยาและฉีดอินซูลินในบางคน หากกินข้าวไม่ตรงเวลา หรือได้ยาเกินโดสที่ต้องการ ฉีดอินซูลินเกินขนาด หรือไตทำงานแย่ลง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลต่ำได้
“เมื่อน้ำตาลต่ำ จะมีอาการ อ่อนเพลีย ใจสั่น มึนเวียนหัว ปวดหัว ฉุนเฉียว สายตาพร่า เหงื่อออก ถ้าเป็นมากๆ จะซึมลง ไม่รู้สึกตัว ชักเกร็ง และเสียชีวิตได้”
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีความเสี่ยงน้ำตาลต่ำ หากต้องขับรถ ควรตรวจน้ำตาลก่อนออกเดินทาง ระหว่างเดินทางให้เจาะเลือดตรวจน้ำตาลทุก 2 ชั่วโมง และเตรียมของหวาน น้ำเชื่อม ลูกอม ติดตัวไว้เลย ถ้าเริ่มมีอาการเมื่อไหร่ให้กินทันที และควรกินข้าวให้ตรงเวลา
ส่วนเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติที่ตกเป็นข่าว ปลอดภัยแล้ว แต่ขอแนะนำว่า ไม่ควรขับรถอีก เพราะเคสที่เป็นเบาหวานหนัก ถึงขั้นใช้อินซูลิน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ควรขับรถด้วยตัวเองอีกแล้ว และอยู่ใน 9 โรคต้องห้ามที่กรมการขนส่งทางบกระบุเอาไว้ว่าห้ามขับรถครับ
สำหรับอุบัติเหตุดังกล่าว เกิดขึ้นวานนี้ (28 พ.ย.66) บริเวณทางลอดอุโมงค์ข้ามแยกท่าพระ พนักงานสอบสวน สน.ท่าพระ ได้รับแจ้งเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันจนเกิดพลิกคว่ำ โดยที่เกิดเหตุพบรถเก๋งสีขาว อยู่ในลักษณะพลิกหงายล้อชี้ฟ้า ส่วนรถคู่กรณีมีรอยบุบด้านท้ายรถ