"นิด้าโพล" เผย "มาดามเดียร์" มาที่ 1 เหมาะนั่งเก้าอี้หัวหน้าปชป. คนใหม่
วันที่ 3 ธ.ค. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ ภาค 2” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.53 ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา ร้อยละ 35.80 ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ร้อยละ 12.52 ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 และร้อยละ 1.15 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย
ด้านสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดในการเมืองไทยได้จนถึงปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.62 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแฟนคลับ/ฐานทางการเมืองที่มั่นคง เช่น ฐานในภาคใต้ รองลงมา ร้อยละ 30.92 ระบุว่า ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีศักยภาพในการนำพรรคฯ ร้อยละ 26.41 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นสถาบันทางการเมืองที่มั่นคง ร้อยละ 22.60 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ชัดเจนในการต่อสู้กับระบบเผด็จการ และการคอร์รัปชัน ร้อยละ 20.08 ระบุว่า สส. หรือแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญทางการเมือง ร้อยละ 9.16 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีวัฒนธรรมความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคฯ ร้อยละ 3.21 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีเจ้าของ และร้อยละ 3.44 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำเพื่อที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 45.50 ระบุว่า ปฏิรูปพรรคฯ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองไทยในปัจจุบัน รองลงมา ร้อยละ 35.65 ระบุว่า เลือกหัวหน้าพรรคที่มีศักยภาพในการนำพรรคฯ ร้อยละ 17.94 ระบุว่า คัดสรรตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคฯ ที่มีคุณภาพทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ร้อยละ 17.79 ระบุว่า แสดงบทบาทการเป็นฝ่ายค้านที่มีศักยภาพ ร้อยละ 15.34 ระบุว่า เชิญอดีตแกนนำพรรคฯ ที่ออกจากพรรคไปแล้วให้กลับเข้ามาช่วยฟื้นฟูพรรคฯ ร้อยละ 13.51 ระบุว่า สร้างความเป็นเอกภาพภายในพรรคฯ ร้อยละ 8.09 ระบุว่า เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อสร้างผลงาน ร้อยละ 7.94 ระบุว่า เลือกเลขาธิการพรรคฯ ที่มีความสามารถในการบริหารพรรคฯ และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 28.32 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 2 ร้อยละ 27.10 ระบุว่าเป็น น.ส.วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์) อันดับ 3 ร้อยละ 20.46 ระบุว่าเป็น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อันดับ 4 ร้อยละ 9.39 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับ 5 ร้อยละ 7.94 ระบุว่าเป็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง อันดับ 6 ร้อยละ 6.03 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย และร้อยละ 0.76 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อพรรคประชาธิปัตย์หลังการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคฯ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.11 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 24.58 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่กันต่อไปแบบบรรยากาศมาคุ (อึดอัด อึมครึม) ร้อยละ 18.39 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะแตกแยก โดยมีบางส่วนย้ายออกจากพรรคฯ ร้อยละ 15.27 ระบุว่า ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคฯ/เลขาธิการพรรคฯ ได้ และร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ ไม่สนใจ