กู้ภัยมูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ กว่า 100 คน รวมตัวยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม สพฉ. หลังถูกศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพฯ สั่งห้ามช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในพื้นที่กรุงเทพฯ
วันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีรายงานว่า นายบัญชา ศีลนิลพันธ์ รองประธานมูลนิธิเพชรเกษม พร้อมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจำนวนกว่า 100 นาย เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. หลังศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งให้มูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ หยุดรับส่งผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
รองประธานมูลนิธิเพชรเกษม กล่าวว่า การออกหนังสือสั่งห้ามช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของศูนย์เอราวัณไม่ชอบธรรม จึงจำเป็นต้องทำหนังสือมายัง สพฉ. เพื่อให้พิจารณาและดำเนินการขึ้นระบบการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพฯ เพราะที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือประชาชนในเขตกรุงเทพฯ มานาน 7 ปีแล้ว โดยพยายามพัฒนาบุคลากรและก่อสร้างสำนักงานให้ถูกต้องตามระเบียบของการขอขึ้นระบบอย่างครบถ้วน แต่กลับถูกศูนย์เอราวัณเพิกเฉยถึง 5 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่า 8 องค์กรที่ขึ้นระบบอยู่เดิมคัดค้านไม่ให้มูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ เข้าสู่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพฯ
สำหรับข้อคัดค้านที่ศูนย์เอราวัณ แจ้งกลับมายังมูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ ระบุว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความพร้อมเพียงพอแล้วที่จะช่วยเหลือประชาชนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จึงมีความเห็นไม่ให้ขึ้นระบบถูกต้อง และหากมูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ ยังช่วยเหลือประชาชนในเขตกรุงเทพฯ จะแจ้งไปยัง สพฉ. เพื่อแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งรองประธานมูลนิธิเพชรเกษม ยืนยันว่า จะออกช่วยเหลือประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ต่อไป เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนระบุว่าห้ามช่วยประชาชน และหากการนำผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย ให้นำเจ้าหน้าที่ไปรอที่โรงพยาบาลปลายทาง เพื่อจับกุมได้เลย
นายพงษ์พิษณุ ศรีธรรมานุสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน พื้นที่ 3 เป็นตัวแทน สพฉ. รับหนังสือ กล่าวว่า สพฉ. มีคณะกรรมการพิจารณารับเรื่องร้องเรียน เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและประสานผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยระหว่างนี้มูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ ยังคงสามารถออกช่วยเหลือประชาชนได้ในนามของภาคประชาชน
สำหรับกรณีของมูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ เป็นหน่วยงานที่จดจัดตั้งมูลนิธิกับกระทรวงมหาดไทยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในการจัดผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งในกรณีนี้คือศูนย์เอราวัณการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพฯ จึงทำให้ปัจจุบันเป็นการช่วยเหลือแบบภาคประชาชน เพราะศูนย์เอราวัณไม่รับรองด้านกฏหมายการช่วยเหลือ โดยมูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังกรรมาธิการวุฒิสภาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงและพิจารณาให้ความเป็นธรรม