ย้อนคดีโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี"นำมาสู่ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในวันนี้
ย้อนคดีโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" เข้ากรุที่ปรึกษานายกฯ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ลงนามในคำสั่งให้นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
และคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติแต่งตั้งพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ให้ดำรงตำแหน่งเลขา สมช.แทนนายถวิล
และในวันที่ 19 ต.ค. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการ วันที่ 30 ก.ย. 2555 และเป็นเครือญาติของตนเอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างลงต่อที่ประชุม ก.ต.ช. ในการประชุมครั้งที่ 5/2554 ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช. มีมติเห็นชอบ
จากนั้นนายถวิล ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย
และต่อจากนั้น วันที่ 1 ก.ค.2563 คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนางสาวยิ่งลักษณ์ และส่งให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยอัยการสูงสุด จึงได้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกา และมีการออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากไม่เดินทางมาศาล โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล
ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" คดีโอนย้าย "ถวิล" ชี้ไม่มีเจตนาพิเศษ
ล่าสุด วันนี้ (26ธ.ค.66) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีหมายเลขดำ อม.11/2565 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย
โดยศาลฯเห็นว่าไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
และศาลพิเคราะห์ตอนหนึ่งว่า กรณีดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเจตนาพิเศษ และรับฟังไม่ได้ว่ามีการโอนย้ายนายถวิล พ้นเก้าอี้ เลขา สมช.
และโยกย้ายพล.ต.อ.วิเชียร ผบ.ตร.ในขณะนั้น ไปนั่ง เลขาสมช.แทน ทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่างลง ก่อนเสนอ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มานั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.วิเชยร ในเวลาต่อมา
"ทีมทนาย" เตรียมโทรรายงาน "ยิ่งลักษณ์" ลุ้นโจทก์ยื่นอุทธรณ์?
ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความประจำตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ว่า ต้องขอบคุณศาลฎีกา ที่พิจารณาจากเจตนา และถือว่าต้องเป็นกรณีศึกษาทางข้อกฎหมาย เพราะจะเห็นได้ชัดว่าศาลฎีกา ไม่ได้หยิบคำพิพากษาของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาด้วย เหตุผลเพราะว่าเป็นคนละกรณี
ส่วนหากอัยการจะมีการยื่นอุทธรณ์ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เราก็ต้องพิจารณาก่อนว่า เขาอุทธรณ์ในประเด็นใด แต่การจะยื่นอุทธรณ์ได้จะต้องผ่านด่านแรก คือ การรับคำอุทธรณ์ ซึ่งเป็นมติจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากมีมติไม่รับ ก็ถือว่าคำพิพากษาวันนี้เป็นที่สิ้นสุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้พูดคุยกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากนี้ก็จะโทรรายงานให้ทราบถึงผลคำพิพากษายกฟ้อง