กรมอุทยานฯ จัดโครงการนำร่อง "ย้ายลิงสู่ที่พักพิงใหม่" แก้ปัญหาลิงล้นเมือง จ.เพชรบุรี หลังสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยว นำไปเลี้ยงไว้ที่ศูนย์เพาะเลี้ยง ปรับพฤติกรรมให้พร้อมที่จะดำรงชีพต่อไปในธรรมชาติ
วันที่ 27 ธ.ค. 2566 หลังประชาชนบริเวณใกล้เคียงพระนครคีรี หรือ เขาวัง จ.เพชรบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากลิงแสมที่มักไปอาศัยอยู่บนร้านค้า อาคารพาณิชย์หน้าเขาวัง พร้อมทำลายทรัพย์สิน สิ่งของ รื้อหลังคา รวมทั้งยังมีพฤติกรรมดุร้าย ทำร้ายชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ยื้อแย่งชิงสิ่งของและอาหาร จนบางคนได้รับบาดเจ็บสาหัส สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง จนในวันนี้มีการจัดโครงการนำร่อง “ย้ายลิงสู่ที่พักพิงใหม่” เพื่อแก้ปัญหาลิงล้นเมือง โดยมี ดร.ยุทธพล อังกินันท์ ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมูลนิธิเพื่อนป่า
โดยช่วงเช้าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ นำกรงขนาดใหญ่มาดักจับฝูงลิง จำนวน 3 จุด บริเวณด้านหน้าเขาวัง ปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ 05.30 - 15.30 น. เพื่อแบ่งเบาความแออัดของลิง โดยตั้งเป้าไว้ที่ 200 ตัว จากทั้งหมด 1,204 ตัว ก่อนนำไปเลี้ยงไว้ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยวันนี้ปฏิบัติการดังกล่าวมีความยากลำบากพอสมควร เพราะว่าลิงเหล่านี้มีความฉลาด เมื่อมันรู้ว่าพรรคพวกโดนจับเข้ากรงมันก็จะหนีไปอีกฝั่งนึง ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯ ก็จะคอยดักและพยายามที่จะจับให้ได้มากที่สุดโดยเน้นตัวโต และจ่าฝูง
ด้าน ดร.ยุทธพล เผยว่า เรียกว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวเมืองเพชร หรือเป็นของขวัญปีใหม่ของคนไทยทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะหากโมเดลโครงการนี้สำเร็จก็สามารถนำไปใช้ทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาลิงล้นเมืองได้ วันนี้เราไม่ได้ทำเพื่อคนอย่างเดียว แต่เราทำเพื่อลิงด้วย ประชาชนสามารถวางใจได้ เพราะเราทำให้ลิงได้อยู่อาศัยในที่ที่ดี ส่วนลิงที่เหลือจะทำอย่างไรต่อไปนั้นก็ขอให้ประชาชนใจเย็น เมื่อมีโครงการนำร่องแล้วก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ลิงที่ขนย้ายในวันนี้ไม่ได้ให้อยู่กรงใหญ่เลยทันที จะเอาเข้ากรง 100 ตารางวา หรือ กรงแรกรับ หลังจากเข้ากรงแรกรับแล้ว มูลนิธิเพื่อสัตว์ป่าจะนำลิงเหล่านี้ไปปรับพฤติกรรมทั้งความดุร้าย การกิน และการอยู่ นอกจากนี้ยังกรงที่ใช้สำหรับฝึกลิงไม่ให้ออกนอกกรง โดยใช้เทคนิคเดินไฟรอบกรง แต่กระแสไฟไม่แรงถึงขั้นทำให้ลิงเสียชีวิต แต่ทำให้ลิงสะดุ้งและรู้ว่าไม่ควรแตะสายไฟนี้
โดยการขนย้ายลิงไปที่พักพิงใหม่ ไม่ได้ขนไปหมดทั้งเขาวัง แต่เพื่อลดความแออัดและลดปริมาณลงให้พอดีกับสถานที่เขาวัง เพื่อยังคงอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีอยู่ว่าต้องมีลิง
ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยว่า เพชรบุรีถือว่าเป็นจังหวัดที่นำร่องและเป็นจังหวัดต้นแบบให้กับหลาย ๆ พื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องลิง ในเบื้องต้นได้มีการคำนวณปริมาณลิงให้พอดีกับกรงอยู่ที่ประมาณ 500 ตัว หลังจากนี้จะดูแลเรื่องสุขภาพลิง เพราะลิงที่อยู่ที่นี่กินแต่อาหารคน จึงทำให้สุภาพของลิงตอนนี้ไม่เหมือนกับสุขภาพของลิงทั่วไปที่อยู่ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นตอนนี้ไม่ได้ช่วยเหลือเรื่องคนอย่างเดียวแต่ช่วยเหลือลิงด้วยที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดี ซึ่งโครงการนำร่องดังกล่าว สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเช่นนี้ได้ ซึ่งก็อยู่ที่แต่ละจังหวัดจะมีการพูดคุยกันว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร
สำหรับพื้นที่ปลายทางหลังจากปรับพฤติกรรมของลิงแล้ว เมื่อลิงพร้อมที่จะดำรงชีพต่อไปในธรรมชาติ ขั้นตอนต่อไปคือสำรวจพื้นที่ป่าว่าตรงไหนเหมาะกับลิง ซึ่งก็อยู่ที่การประเมินของนักวิชาการว่าลิงมีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่ธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน อยู่ที่ความพร้อมของลิงแต่ละตัว เพราะหากปล่อยไปโดยที่ลิงไม่พร้อมอาจทำให้ลิงเสียชีวิตได้
ส่วนงบประมาณหรือค่าอาหารลิง จะเป็นงบประมาณของรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือในการซื้ออาหาร แต่อย่างไรก็ตามเรามีโครงการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคือโครงการ “พ่อแม่อุปถัมภ์” ที่สามารถช่วยเหลือเรื่องการดูแลลิงได้ สุดท้ายต้องขอความร่วมมือกับประชาชนว่าการให้อาหารลิงต้องให้อย่างพอเหมาะพอควร ซึ่งอนาคตหากยังคงพบปัญหาเช่นเดิมอยู่ก็อาจต้องหาที่พักพิงอื่น ๆ หรือขยายกรงให้มีขนาดที่เพียงพอต่อประชากรลิง
อีกหนึ่งกรณีที่ประชาชนให้ความสนใจหลังกรมอุทยานได้มีการติดต่อยูทูบเบอร์ชาวเกาหลีใต้คือ “จอง-คัลแลน” เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับกรมอุทยานฯ เพื่อส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว กรมอุทยานฯ มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจ จำเป็นที่ต้องมีบุคคลที่นำเสนอมุมมองเรื่องราวดี ๆ โดยเฉพาะสถานที่ที่เป็นอันซีนไทยแลนด์ วัฒนธรรมชุมชนที่อยู่ในป่าในเขา ดังนั้นบล็อกเกอร์ที่เป็นชาวต่างชาติจะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติด้วยกันเองมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ วันนี้ได้การตอบรับที่ดีจากทั้งคู่ พร้อมบอกว่าดีใจมากที่ได้รับการสนใจมากขนาดนี้
ขณะที่นายภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยาน หรือ หมอล็อต เผยว่า หลังจากนี้ต้องดูแลเรื่องสุขภาพของลิง คัดกรองสุขภาพลิงด้วยการกักโรค เก็บเลือดตรวจดูค่าการทำงานของตับ ไต หัวใจ ให้เหมือนกับคนหมดทุกอย่าง หากพบว่าลิงตัวใดมีน้ำหนักเกินก็จะปรับเปลี่ยนเรื่องอาหาร เป็นอาหารธรรมชาติที่ควรกิน มีสถานที่ออกกำลังกายให้กับลิง ให้สุขภาพเหมือนกับลิงที่อยู่ตามธรรมชาติ
ลิงเป็นสัตว์ที่เรียนรู้และปรับตัวได้ง่ายโดยเงื่อนไข จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเอาลิงไปอยู่สถานที่ใหม่ แต่ก็อยู่ที่ลิงแต่ละตัวที่มีพฤติกรรมการปรับตัวไม่เหมือนกัน ยืนยันว่าลิงเหล่านี้ที่ถูกย้ายที่อยู่จะมีสวัสดิภาพคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอยู่ที่นี่ ตนพูดในฐานะตัวแทนลิง ว่าเขาอยู่ที่นี่เขาไม่มีความสุข มีปัญหาเรื่องสุขภาพ มีความเสี่ยงอันตรายจากการใช้ชีวิตในชุมชน ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีของลิงเราจึงต้องเข้าไปดูแล ส่วนการทำหมันลิงก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ใช้ในการแก้ปัญหาลิงล้นเมืองได้ และหลังจากนี้ก็จะเดินหน้าทำหมันลิงต่อไป