จังหวัดสกลนคร เตรียมแถลงข่าวพบฟอสซิลจระเข้แคระสายพันธุ์ใหม่ของโลก "วาราโนซูคัส สกลนครเอนซิส" (Varanosuchus sakonnakhonensis) อายุ 130 ล้านปี แหล่งที่พบอยู่ในหินโคลนบนเทือกเขาภูพาน
วันที่ 18 มกราคม 2567 นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร มอบหมายให้นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล รอง ผวจ.สกลนคร ร่วมกับ ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร นายธรรมรัตน์ สิงห์ศรี ปลัด อบจ.สกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์ภูพาน ซึ่งอยู่ในความดูแลของ อบจ.สกลนคร เพื่อจัดเตรียมสถานที่ในการจัดแสดงฟอสซิลจระเข้โบราณ "วาราโนซูคัส สกลนครเอนซิส" (Varanosuchus sakonnakhonensis) อายุ 130 ล้านปี ซึ่งเป็นจระเข้แคระสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย ที่ถูกค้นพบบนเทือกเขาภูพาน และจะแถลงข่าวการพบฟอสซิลดังกล่าว
ทั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีที่ทำให้นักบรรพชีวินวิทยา นักวิจัยจากทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญกับเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร หลังจากทีมนักวิจัยจากประเทศไทย และนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส ออกมาประกาศข่าวดีว่า มีการค้นพบซากฟอสชิลจระเข้สายพันธุ์ใหม่ของโลก มีอายุกว่า 130 ล้านปี เป็นฟอสซิลที่มีความสมบูรณ์มาก
โดยเมื่อปี 2561 อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ อาจารย์นิพนธ์ วงกาฬสินธุ์ อาจารย์สรรคสนธิ์ บุณโยทยาน ชมรมอารยธรรมสกลนคร ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณสถาน มีการพบฟอสซิลโบราณ จากนั้นมีการส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร และมหาวิทยาวิทยาลัยมหาสารคามตรวจสอบ ซึ่ง ดร.โยฮัน โปชาต-คอตติลัวซ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคล๊อด เบอร์นาร์ด ลียง ประเทศฝรั่งเศส ได้ใช้เครื่องซีทีสแกน ปรากฏว่าซากฟอสซิลที่พบ คือซากฟอสซิลจระเข้สายพันธุ์ใหม่ของโลก มีอายุกว่า 130 ล้านปี ทีมผู้ศึกษาวิจัยจากประเทศไทย นำโดย รศ. ดร. คมศร เลาห์ประเสริฐ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ พิพิทธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี ได้เดินทางเข้าพบนายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผวจ.สกลนคร เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย ให้ข้อมูลการค้นพบจระเข้สายพันธุ์ใหม่ของโลกที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งถูกค้นพบจากการเข้าตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ตามที่ได้รับแจ้งในปี พ.ศ. 2561
โดยพิพิธภัณฑ์สิรินธร สำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จิตอาสาพิทักษ์ป่า และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่บ้านห้วยยาง ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร ทำให้พบซากดึกดำบรรพ์หลายชนิด รวมถึงจระเข้ในหินโคลน หมวดหินเสาขัว ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปี จากการอนุรักษ์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการและการศึกษาวิจัยกว่า 5 ปี โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Claude Bernard Lyon 1 สาธารณรัฐฝรั่งเศส และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า เป็นจระเข้แคระวงศ์อโทโพซอริดีสายพันธุ์ใหม่ของโลก ตั้งชื่อตามลักษณะกะโหลกที่คล้ายตะกวดและแหล่งที่พบ ว่า “วาราโนซูคัส สกลนครเอนซิส (Varanosuchus sakonnakhonensis)” ถือเป็นจระเข้แคระสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ยังได้หารือวางแผนประสานความร่วมมือกับจังหวัดสกลนคร ในการแถลงข่าวและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัดสกลนครต่อไป ซึ่งตกลงว่าจะนำฟอสซิลจระเข้มาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ภูพาน