"ดีเอสไอ" รับ คดี "ลุงเปี๊ยก" เป็นคดีพิเศษ พบเข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.อุ้มหาย ดึง 4 หน่วยงาน เป็นคณะสอบสวนข้อเท็จจริง
พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยความคืบหน้าแนวทางการสืบสวน หลังดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ กรณีลุงเปี๊ยก ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญา อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย โดยระบุว่า ตามมาตรา 31 ระบุว่า หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนได้มี 4 หน่วย คือ 1. พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2. ฝ่ายปกครอง กรมการปกครอง 3. พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ และ 4. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด แต่กฎหมายก็ระบุเพิ่มเติมว่า หากคดีที่ดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษ ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายคดีพิเศษ ภายใต้ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ปี 2547
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ดีเอสไอจะแจ้งการรับคดีพิเศษนี้ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อทราบและมอบหมายพนักงานอัยการ เข้ามาตรวจสอบควบคุมการสอบสวนตามกฎหมายมาตรา 31 และกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ จึงมีความเห็นว่า ควรเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนร่วมด้วย ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้มีส่วนร่วมถ่วงดุลกันทั้ง 4 ฝ่าย ซึ่งหากทำงานร่วมกัน ก็สามารถใช้พยานหลักฐานจากทุกฝ่ายเข้ามาในสำนวนได้ นอกจากนี้ยังระบุว่า คดีนี้มีเหตุที่จะสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้ โดยในชั้นสืบสวนมีการไปซักถามลุงเปี๊ยกเบื้องต้น แต่ไม่สามารถเปิดเผยเรื่องในสำนวนได้
ส่วนกรณีจากการสอบสวนเบื้องต้นพบเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำผิดด้วยหรือไม่ โฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะตอบ ขอลงไปดูรายละเอียดก่อน แต่ภายใต้ พ.ร.บ.อุ้มหาย หากสอบสวนพบมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง กฎหมายระบุให้ชุดสอบสวนดำเนินการแจ้ง ป.ป.ช.ทราบ และเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสอบสวนตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ได้ต่อไป โดยโทษมีทั้งทางปกครองและอาญา