26 ม.ค. 2567 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้เขียนเรื่องราวถึงนักร้องเรียนชื่อดังท่านหนึ่ง โดยมีข้อความว่า

 

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานสักเท่าไหร่

 

มีโมฆะบุรุษนาม “สีสากกะเบือ” ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง เที่ยวหากินตามงานวัดหลอกชาวบ้านไปวันๆ

 

เมื่อเห็นว่าหลอกคนได้ง่าย แค่เล่าเรื่องโกหกพกลมคนก็เชื่อ จึงคิดการใหญ่ ทำตัวเป็น “คนดีศรีสังคม“

 

อันสังคมไทยมักเชื่อถือคน “มือถือสากปากถือศีล” แค่ทำท่ากราบไหว้พระสงฆ์องค์เจ้า คนไทยก็หลงเชื่อลีลาชี้นิ้วโกหก

 

อาชีพร้องเรียนแล้วแบล็คเมล์มันช่างหากินง่ายเสียเหลือเกิน

 

เรื่องไหนเห็นว่าจะได้สตางค์ไม่มีรีรอ ทำตัวดั่ง “พระเวชสันดรมาโปรดสัตว์” แต่ที่ไหนได้พอโปรดได้ที่ก็ตีกิน หากไม่ใช่ของแท้ย่อมหวั่นไหว

 

เสมือนหนึ่งในภาษากฎหมายเรียก “ขู่กรรโชก” กระตุกให้สะดุ้งแล้วรอเคลียร์ เพราะเกรงกลัวอิทธิพลคนใช้สื่อเป็นเครื่องมือ บรรดาข้าราชการกลัวหัวหดเมื่อได้ยินชื่อ “สี”

 

พวกสีขาวไม่อยากมีเรื่องต่อความยาวสาวความยืด จึงจ่ายดีกว่า

 

ยิ่งพวกเทาๆ แทบจะรีบเอาเงินสดใส่ลังเบียร์ไปแกล้งลืมไว้ถึงที่บ้าน

 

สังคมมันบัดซบ คนชั่วมันถึงหากินแบบนี้ได้

 

ขอเตือนสื่อไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ศาลาคนชั่วแสร้งทำดี”

 

มันช่างเลวกว่า “คนเลวที่ยอมรับว่าเลว”

 

สังคมต้องระวัง เพราะเชื่อหรือไม่ว่ารายนี้ไม่ใช่รายแรก และไม่ใช่รายสุดท้ายแน่นอน

 

คนใกล้ตายอย่างผมไม่เสียเวลาเล่าเรื่องโกหก

 

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

26 มกราคม 2567