นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และสส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมาบริเวณชั้น 6 อาคารรัฐสภา เพื่อเข้าร่วมติดตามศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับนโยบาย แก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ผ่านทางจอโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ ที่เจ้าหน้าที่พรรคเตรียมเอาไว้ พร้อมกับบรรดา สส.พรรคก้าวไกลคนอื่นๆ
นายพิธา ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ก่อนฟังคำวินิจฉัย โดยยืนยันไม่เครียด และได้มีการเตรียมแนวทางไว้ในใจสำหรับคำวินิจฉัยที่จะออกมา แต่ขอรอฟังก่อน
มติเอกฉันท์ ก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง เบรกแก้ ม.112
31 มกราคม 2567 เมื่อเวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ์ สุนทรเกษร ทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิฉัยว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา) และผู้ถูกร้องที่2 (พรรคก้าวไกล) มีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพื่อการเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ม.112 และใช้เป็นนโยบายพรรค มีลักษณะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ หากยังปล่อยให้ ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก ม.112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข ม.112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติต่อไปในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังให้เหตุผลว่า การที่นายพิธา และพรรคก้าวไกล แก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการลดทอนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยซ่อนเร้นด้วยวิธีการหาทางรัฐสภา และการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับมีการรณรงค์การแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายให้สถาบันอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน
การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง จึงแสดงถึงเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความทรุดโทรม เสื่อมทราม ซึ่งสามารถนำไปสู่การการล้มล้างการปกครองได้
ดังนั้น หากยอมให้บุคคลทั้งสองดำเนินการต่อไป ก็ไม่ไกลที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าว และเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นเพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกระบวนการนิติบัญญัติที่โดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง
ก้าวไกลแถลงแก้ ม.112 ไม่ใช่เซาะกร่อนบ่อนทำลาย
พรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายชัยธวัช แถลงเป็นภาษาไทย นายพิธา แถลงเป็นภาษาอังกฤษ หลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่านายพิธาและพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองและสั่งยุติการกระทำว่า แม้ศาลจะวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลว่า เป็นสิทธิ์การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้มีเจตนาเพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลายหรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติแต่อย่างใด
นอกจากนี้ พวกเรายังเห็นว่าคำวินิจฉัยศาลในวันนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทย ในระยะยาวด้วย เช่นอาจกระทบกับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต อาจกระทบต่อความเข้าใจ และความหมายตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการสำคัญของระบบการเมือง ไม่มีความชัดเจนแน่นอน อีกทั้งมีความคลุมเครือ ทั้งในแง่การตีความข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเจตนา ว่าอย่างไรคือการล้มล้างการปกครอง
คำวินิจฉัยในวันนี้จะก่อให้เกิดปัญหาต่อดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตย กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมืองไทยในอนาคตอาจจะทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภาในระบบประชาธิปไตย ในการหาข้อยุติความขัดแย้งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมในอนาคต
สุดท้าย คำวินิจฉัยวันนี้อาจส่งผลต่อประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยอาจส่งผลกระทบต่อด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง พรรคก้าวไกลขอขอบคุณทุกกำลังใจจากประชาชนที่ส่งมาให้พวกเราตลอดหลังจากที่มีการอ่านคำวินิจฉัย
คำวินิจฉัยในวันนี้ จะไม่ได้กระทบต่อพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคนไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องของอนาคตระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
จากนั้น นายชัยธวัช และนายพิธา ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนถามคำถามที่อยู่นอกเหนือจากคำแถลง ว่าหลังจากนี้อาจมีคนไปยื่นยุบพรรคก้าวไกล มีการเตรียมรับมือไว้อย่างไร นายชัยธวัช บอกว่า ตอนนี้ยังคงต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถประมาทได้ในทางกฎหมาย ส่วนจะมีการต่อสู้อย่างไรนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือว่าที่สุดแล้ว ไม่สามารถโต้แย้งได้ แต่ไม่กังวล และไม่ประมาท
ส่วนมองว่า จะซ้ำรอยพรรคอนาคตใหม่หรือไม่นั้น นายชัยธวัชระบุว่า ยังไปไม่ถึงตรงนั้น ขั้นตอนต่อไปเราคงต้องรอเอกสารคำวินิจฉัยที่สมบูรณ์ตัวเต็ม เพื่อที่รับมือในทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการกล่าวถึงพฤติกรรม บุคคลภายในพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ระบุว่า เราค่อนข้างกังวลคำวินิจฉัย ที่เราไม่มั่นใจในหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนา พร้อมยกตัวอย่างเช่น การจะบอกว่ามี สส.พรรคก้าวไกลไปประกันตัว ผู้ที่ถูกกล่าวหาคดี 112 ถือว่าเป็นองค์ประกอบว่าล้มล้างการปกครองก็มีปัญหา เท่ากับว่าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ที่รับรองในรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าหลักที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อน การกล่าวหาบุคคลใดข้อหาใด ต้องกล่าวหาอยู่บนพื้นฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มันทำให้ขัดกัน และการประกันตัวผู้ต้องหาไม่ว่าจะข้อหาใดๆ เป็นการใช้สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของทุกคน เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ยกเว้นว่า ข้อกล่าวหานี้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือห้ามประกัน หรือใครเข้ามาประกันตัว หรือใครเข้ามาเกี่ยวข้องถือมีความผิดไปด้วย ฉะนั้นถ้าผู้พิพากษาที่วินิจฉัยให้ผู้ที่ถูกล่าวหา ในการกระทำผิด ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครองไปด้วยหรือไม่ เราจึงกังวล แต่คำวินิจฉัยออกมาแล้ว แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ในการตีความ ความไม่ชัดเจนแน่นอนในการใช้กฎหมาย อะไรคือขอบเขต
ส่วนนโยบายต่างๆ ที่เคยเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 นั้น คำวินิจฉัยที่ตุลาการฯอ่าน มี 2 เรื่อง คือ สั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ และโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มียกเลิกการประมวลกฎหมายอาญา 112 อันหมายความว่า หลังจากนี้ถ้าก้าวไกลจะต้องห้ามพูด 112 โดยสิ้นเชิงหรือไม่ หรือการพูดให้เพิ่มโทษ ในมาตรา 112 ถึงจะทำได้หรือไม่ นี่ยังไม่นับรวมสื่อมวลชน หรือนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นต่อมาตรา 112 ก็จะทำให้ได้หรือเปล่า หรือแสดงแบบไหนถึงผิด หรือมีการแสดงความคิดเห็นว่ามาตรา 112 อาจจะถูกปรับปรุง จะมุ่งเจตนาไปสู่การล้มล้างหรือไม่ อย่างรายงาน คอป. ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่ง ส.ส. พรรคก้าวไกลก็นำมาใช้ ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นการเสนอของอาจารย์คณิต ณ นคร ที่เสนอให้ลดโทษ โดยให้สำนักพระราชวัง เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษแทนประชาชน แทนที่จะให้ประชาชนเป็นผู้ร้องทุกข์ดำเนินคดี ต้องดูคำวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะในอนาคตอาจจะทำให้เกิดปัญหา ซึ่งจากนี้ไปหากมีการเสนอกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ต้องรอให้ผ่านวาระที่ 3 ก่อน ซึ่งคำวินิจฉัยวันนี้แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อปัญหาในอนาคตได้
ส่วน สส. 44 คนของพรรคก้าวไกล ที่เคยเข้าชื่อแก้ไขมาตรา 112 อาจถูกลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายชัยธวัช ระบุว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น จากนี้การดำเนินการใดๆ ที่เกินสมควร ยืนยันจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปมปัญหาประเด็นความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น พรรคก้าวไกลมีเจตนาที่จะยุติ ลดการนำสถาบันพระมาหากษัตริย์มาเป็นข้อขัดแย้ง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เจตนาข้อเสนอ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ไม่ต้องการให้นำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่เปิดช่องให้ใครผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตัวเอง และอาศัยความจงรักภักดีนั้น แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ นี่คือเจตนาที่แท้จริงของพรรคก้าวไกลไม่ใช่อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกลที่ใช้นโยบายนี้ในการหาเสียงยังมีพรรคการเมืองอื่นอีกด้วย
และที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าใช้ ม.112 หาเสียง เป็นการลดสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง มาเป็นคู่ขัดแย้งประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ตนเองอยากถามว่า พรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียงว่าตัวเองเป็นผู้จงรักภักดี อีกพรรคหนึ่งไม่จงรักภักดี หรือโจมตีอีกพรรคหนึ่งว่ามีเจตนาที่บ่อนทำลายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือขึ้นรูปราชวงศ์ในเวทีหาเสียงถือว่าเป็นการลดทอน บ่อนเซาะทำลายทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่
ส่วนคำวินิจฉัยจะมีผลต่อกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอกระทบต่อสภาหรือไม่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับผู้กระทำความผิดมาตรา 112 นายชัยธวัช ระบุว่า นี่คือสิ่งที่กังวล เพราะการตีความที่อาจจะไม่มีขอบเขตไร้หลักเกณฑ์ โดยเฉพาะการเสนอในเรื่องของนิรโทษกรรม ผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรือผู้ต้องขังจากข้อหามาตรา 112 ถือว่าลดการคุ้มครอง กัดเซาะทำลาย มีเจตนาซ่อนเร้น ล้มล้างการปกครองก็ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่กระทบต่อการปกครองในอดีต ตั้งแต่ปี 2478-2499 ที่ละเว้นโทษ ในฐานความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ได้มีปัญหาเลยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันถูกวินิจฉัยถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง นี่เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน ในปัจจุบันซึ่งในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะถูกวินิจฉัยออกมาแบบไหนอีก
ส่วนมีโอกาสถอย พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมือนกับพรรคการเมืองอื่นที่ถอยเรื่องแก้ไข มาตรา 112 หรือไม่ ขอให้เป็นเรื่องของกลไกรัฐสภา เพราะร่างกฎหมายเสนอไปแล้ว เนื่องจากสุดท้ายยังคิดว่าเสียงส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อยุติที่ทุกคนยอมรับร่วมกันได้
ส่วนกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เตรียมเดินทางยื่นยุบพรรคก้าวไกลในเวลา 10:00 น. พรุ่งนี้ ขอดูคำร้องก่อน
ด้านนายพิธา ได้กล่าวเป็นภาษาไทยว่า เท่าที่ฟังมาความคิดของผมสอดคล้องกับนายชัยธวัช พูดไปก็ต้องยืนยันเจตนาว่าเราบริสุทธิ์ใจ ไม่มีวาระซ่อนเร้นแต่อย่างใด และไม่มีความตั้งใจที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความมั่นคงของชาติ และที่พูดเป็นภาษาอังกฤษคือกังวล อยู่ 2-3 เรื่องคือ นิยามคำว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และกังวลขอบเขตระหว่างนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญว่า อะไรทำได้ทำไม่ได้ และเรื่องเกี่ยวคำวินิจฉัยว่าอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ในเรื่องของเจตนาและถ้าลึกกว่านั้น จะเป็นเรื่องสำคัญทางนิติรัฐ นิติธรรม เช่น การสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิการประกันตัว สิทธิการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง ความเปลี่ยนแปลงในสังคม ตนรู้สึกเสียดายโอกาสที่จะออกจากความขัดแย้ง โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในความขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดูในรายละเอียดและกลับมาหารือกันอีกครั้ง
"นายกฯพิธา" ดังสนั่นลั่นสภา!! หลังกลุ่มมวลบุกมาให้กำลังใจ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงมาพบปะมวลชนแฟนคลับพรรคก้าวไกลกว่า 30 คน ได้เดินทางจากศาลรัฐธรรมนูญมารอพบนายพิธาที่อาคารรัฐสภา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายสีหเดช ไกรคุปต์ พี่ชายปารีณา และอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคภูมิใจไทย เขต 1 ราชบุรี ตอนนี้ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกลแล้ว และเคยเดินทางมาร่วมให้กำลังใจนายพิธา ตอนตัดสินคดีหุ้น ITV แล้ว
โดยทันทีที่นายพิธาปรากฏตัว มวลชนก็ได้ส่งเสียงกรี๊ดดังสนั่นสภาฯ เสมือนเป็นการให้กำลังใจหลังจากถูกศาลสั่งให้หยุดพฤติกรรมเรื่อง ม.112 ดังลั่นว่า "นายกพิธา" และพูดว่า ไม่ว่าเขาจะแขวนไปไว้ที่ไหน ก็ยังรักและศรัทธาในตัวคุณพิธา เพราะนายพิธาคือนายกฯ สำหรับเรา และอยากจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะได้รู้ว่าประชาชนเลือกใคร
จากนั้น นายพิธา ได้ถ่ายรูปกับมวลชน และได้เซ็นของที่ระลึกให้กับประชาชน พร้อมกล่าวว่า พรรคก้าวไกล มองว่าทุกสถานการณ์มีแนวทางแก้ไข ซึ่งจะต้องค่อยๆ แก้ไข แต่ถ้าไม่มีสติก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พร้อมย้ำว่าพรรคก้าวไกลยังกำลังใจดี และก่อนกลับขึ้นไปประชุมพรรค มีคุณป้าท่านหนึ่งที่เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาคร ได้โน้มตัวคุณพิธา มาหอมแก้มเพื่อให้กำลังใจ
ทั้งนี้ ระหว่างที่ทำกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภามายืนอำนวยความสะดวก ทำให้หนึ่งในกลุ่มมวลชน ระบุว่า พวกตนแค่มาให้กำลังใจนายพิธา ไม่ได้มีอาวุธอะไร มีแค่ป้ายธรรมดา
ตำรวจเชิญ "นภัสสรา" กองเชียร์ด้อมส้ม ออกจากพื้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขณะรอฟังคำวินิจฉัย เหตุ ชูป้ายกดดันศาล
ศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ 31 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงก่อนการอ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ จากนั้น พล.ต.ต. อรรถพล อนุสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 เดินมากระซิบ พร้อมเชิญนางนภัสสรา ออกจากพื้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขณะรอฟังคำวินิจฉัย โดยสาเหตุมาจากการชูป้ายที่มีเนื้อหาให้กำลังใจพรรคก้าวไกลและกดดันศาล
พล.ต.ต. อรรถพล กล่าวว่า เมื่อเข้ามายังบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นประกาศเกี่ยวกับข้อบังคับการเข้าในพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน และหากการกระทำใดที่เข้าข่ายเป็นการกดดัน หรือรบกวนศาล ซึ่งอาจเป็นการกระทำผิดข้อบังคับการเข้าในพื้นที่ จึงต้องดำเนินการดังกล่าว พร้อมแจ้งกับนางนภัสสรา ว่าห้ามหรือกระทำการใดใดที่จะเป็นการกดดันศาล
นางนภัสสรา กล่าวว่า ได้มีการเขียนป้ายขณะรอฟังคำวินิจฉัย โดยมองว่าไม่ได้เป็นการกดดันศาล แต่เป็นการตั้งคำถามมากกว่า และทางด้าน พล.ต.ต. อรรถพล ได้เข้ามาบอกว่าห้ามไม่ให้ชูป้าย หรือรูป กดดันศาล เพราะอาจจะเป็นการละเมิดศาล พร้อมกับเชิญออกนอกพื้นที่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
นางนภัสสรา กล่าวเพิ่มว่า คงต้องยอมรับเพราะว่าโดนห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่จะไปชูป้ายบริเวณด้านหน้าเสาธง เพราะเป็นพื้นที่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
"เรืองไกรยื่น กกต.ยุบพรรคก้าวไกลพรุ่งนี้
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ เวลาประมาณ 10.00 น. ตนเองจะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. เพื่อยื่นเรื่อง ให้กกต.ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการยุบพรรคก้าวไกล ฐานล้มล้างการปกครอง ตามความผิดในมาตรา 91 (1) ว่า พรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โทษคือขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางด้านการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี โดยจะนำข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีคำวินิจฉัยในวันนี้ ไปยื่นประกอบ
อย่างไรก็ตาม ตนเคยยื่นไปที่สำนักงาน กกต. และ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ถูกตีกลับคำร้อง แต่ครั้งนี้มั่นใจว่า ครั้งนี้วินิจฉัยของศาล มีความผูกพันอย่างแน่นอน และทางด้าน กกต. จะต้องมีการรับคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยต่อไป ซึ่งแม้ว่าพรรคก้าวไกลในอนาคตจะไม่ได้กระทำการเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่คำวินิจฉัยในวันนี้ จะผูกพันว่า มีความผิดตามมาตรา 91 (1) หรือไม่
นอกจากนี้ ตนจะทำหนังสือไปยัง ป.ป.ช. ไปย้ำคำร้องเดิมให้ตรวจสอบจริยธรรมของ สส. 44 คนที่ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาด้วย
ทั้งนี้ ยืนยันว่าส่วนตัวที่ไปดำเนินการร้องเร็วขนาดนี้ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งพรรคก้าวไกล แต่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาล และหากพรรคไหนโดนตัดสินแบบนี้ ตนก็พร้อมที่จะยื่นยุบพรรคเหมือนกัน และคำร้องนี้ก็ไม่ได้เขียนไว้ก่อน เพิ่งเขียนเสร็จ
จตุพร คาดการณ์ก้าวไกลถูกยุบ อนาคตโตเท่าตัว
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “พรรคก้าวไกล” เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการ "เลิกการกระทำ" เลิกการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยถึงจากผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตนมองไปในทิศทางเดียวกับที่หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตมาก่อนนี้ ซึ่งหลายคนเองก็ไม่ได้แปลกใจกับผลวินิจฉัยดังกล่าว เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลรวมถึงนายพิธาจะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าการกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเป็นเพียงการแก้ไขตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ยังไม่ถึงขั้นล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตย แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมาก็ต้องเคารพ และเป็นไปตามคำวินิจฉัยไม่อาจก้าวล่วงได้ ส่วนที่มีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนั้นอาจจะเป็นเพราะทางศาลรัฐธรรมนูญเองอาจจะมองในส่วนของรายละเอียดพฤติการณ์ คือคำพูดในส่วนของนายพิธาหรือพรรคก้าวไกลที่มีมาก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการหาเสียงหรือไม่
หลังจากนี้ ตนเองก็ไม่สามารถตอบได้ว่า หลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น ในส่วนพรรคก้าวไกลจะเลือกเส้นทางในการยืนยันความบริสุทธิ์ เดินหน้าสู้ต่อ หรือจะมีการยุติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย พรรคก้าวไกลจะมีคนรับต่อเพื่อไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคก้าวไกลต่อแน่นอน เพราะที่ทราบพรุ่งนี้ “นายเรืองไกร ” จะเข้าไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอยุบพรรคก้าวไกล
ส่วนอนาคตศาลจะมีการพิจารณาวินิจฉัยถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ก็ต้องเป็นดุลยพินิจของศาลและกรอบข้อกฎหมายว่าจะเดินหน้าอย่างไร แต่ตนมองว่า ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยยุบพรรคในอนาคตพรรคก้าวไกลก็ยิ่งจะโตมากกว่าเก่า คล้ายกระแสนิยมจะเพิ่มมากขึ้น เรียกว่าแลนด์สไลด์มากกว่าเดิม ดูได้จากอดีตจากพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล
ทั้งนี้ เมื่อผลวินิจฉัยออกมาดังกล่าว และมีการชี้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำลักษณะล้มล้างระบบการปกครองประชาธิปไตย ตนเลยอยากจะสอบถามว่า ในส่วนของกรณีพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้ที่มีการออกมาหาเสียง และมีคลิปลักษณะคล้ายแบบเดียวกับพรรคก้าวไกล จะเข้าข่ายความผิดเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีคนไปร้องก็สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า เคยมีการกระทำเหตุการณ์แบบนี้มาในอดีตหรือไม่
อ.ปริญญา ชี้คำวินิจฉัย เปิดช่องให้ยุบก้าวไกล?
ทีมข่าวสอบถามความเห็น ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล หลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้วว่า นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง โดย อ.ปริญญา เผยถึงทิศทางการเดินหน้าของพรรคก้าวไกลหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าเรื่องแรกสิ่งที่เป็นคำสั่งของศาลให้เลิกการกระทำตนคิดว่ามีอยู่ 2 ส่วน หนึ่งคือสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 และการแก้ไขมาตรา 112 ในอนาคตจะต้องไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ
ส่วนการยุบพรรคเราทราบดีอยู่แล้วว่ามาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งแค่เพียงให้เลิกการกระทำ ไม่มีอำนาจถึงขั้นยุบพรรค แต่การยุบพรรคเป็นเรื่องของพ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่ง กกต.เป็นผู้มีอำนาจในการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค และเหตุในการยุบพรรคคือการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ซึ่งเมื่อใดศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายระบอบล้มล้างการปกครอง จึงเชื่อได้ว่า คำร้องต่อไปที่จะขอยุบพรรคจะตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งต้องตามดูในอนาคตว่า กกต. จะทำอย่างไรต่อไป ส่วนการกระทำในอดีตถือว่าจบไปแล้ว แต่อาจจะหลงเหลืออยู่ในโซเชียลมีเดียที่มีนโยบายแก้ไข 112 อยู่
อ.ปริญญา กล่าวอีกว่าความจริงศาลไม่ได้บอกว่าว่าห้ามแก้ไขกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ท่านใช้คำว่าจะต้องไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ หมายถึงการกระทำใดก็ตามแต่พรรคก้าวไกลหรือสมาชิกพรรคจัดกิจกรรมต่างๆ ในการแก้ไข 112 ที่ศาลใช้คำว่าเซาะกร่อนบ่อนทำลายนั้นทำไม่ได้
กล่าวโดยสรุป การกระทำนอกสภาเรื่องนิติบัญญัติถือว่าโดยมิชอบ หากเป็นการเซาะบ่อนทำลายตามที่ศาลได้ชี้แจงมา และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อในอนาคตนโยบายในการหาเสียงของพรรคก้าวไกล เชื่อว่าคงจะถูกปิดไป
ซึ่งในส่วนความคิดเห็นส่วนตัว อ.ปริญญา เผยว่า เป็นไปตามคาดว่าไม่ไปถึงขั้นยุบพรรค และคาดไว้เช่นกันว่าศาลจะให้เลิกการกระทำ เพราะเป็นการกระทำที่ล้มล้างระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งจะนำไปสู่คำร้องต่อไปที่จะยุบพรรค หากถามตนก็รู้สึกว่า เหตุผลต่างๆ ที่ศาลยกมานั้นถือว่าจัดเต็ม และเข้าใจได้ เพราะหากจะบอกว่าเป็นการล้มล้างการปกครองศาลต้องหาเหตุผลที่จะสามารถให้หยุดการกระทำได้
ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังศาลมีคำวินิจฉัยว่า ประเด็นแรก ศาลท่านได้วางหลักไว้ชัดว่าการแก้ไข้ ม.112 ต้องพูดกันตามตรงนะว่าทำไม่ได้ เป็นอีกโมเดลหนึ่ง ถ้าเอาให้ชัดๆ ก็เป็นโมเดลแบบที่พรรคไทยภักดีเสนอ เพราะว่าถ้าเกิดจะแก้ไข ม.112 แล้วเป็นข้อเสนอแบบพรรคก้าวไกล อันนี้เลิกพูด
ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องของการพูดถึงเรื่องนี้ในฐานะพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลท่านก็บอกแล้วไงว่าห้ามพูด ห้ามสื่อสารด้วยวิธีการใดๆ อันนี้ก็ปรากฏตามคำวินิจฉัย ฉะนั้นเรื่องนี้ ก็คงไม่ใช่แต่เรื่องก้าวไกลกับหัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่คงจะเป็นบรรทัดฐานให้กับพรรคอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ไปด้วย
ประเด็นที่สาม ต้องเรียนว่าศาลท่านมีอำนาจ ในการตรวจสอบทุกองค์กร และประเด็นต่อมาหลักของท่านก็คือว่า การแก้ไขกฎหมายของพรรคก้าวไกล และเอาไปแขวนในเว็บ ซึ่งก้าวไกลอาจจะมองเป็นเรื่องของความโปร่งใส เป็นข้อมูลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เห็น แต่ศาลมองว่าเป็นการรณรงค์ ตรงนี้พรรคการเมืองอื่นๆ อาจต้องคิดให้เยอะ พวกกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ที่วันนี้ศาลท่านให้ความสำคัญมากๆ
สำหรับผลที่ตามมาก็คงเป็นเรื่องของการยุบพรรค เรื่องของจริยธรรม ซึ่งผู้ที่อยู่ในขบวนการต่างๆ เบ็ดเสร็จประมาณ 50 คน ฉะนั้น กกต. หรือ ป.ป.ช. รวมถึงนักร้องต่างๆ เรียกได้ว่า ตอนนี้ฟุตบอลมาตั้งเตะจุดโทษแล้ว จะเตะเมื่อไหร่ จะเข้ามุมซ้ายหรือขวาก็เตะได้
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลในแง่ของการยุบพรรค คิดว่าคงไม่ได้มีปัญหาอะไร คือยุบก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับพรรคก้าวไกล จะตัดสิทธิจริยธรรมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะว่าขบวนการความคิดต่างๆ มันก็มีคนเข้ามาแทนไปตามปกติ และการใช้วิธีการแบบนี้ก็ได้มีการพิสูจน์แล้วว่า การทำอะไรแบบนี้ก็ไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ สังคมมันก็เคลื่อนที่ต่อไป