"ขัตติยา"สะอื้น ชงตั้งกมธ.นิรโทษกรรม ปลดความขัดแย้ง ยันไม่ยัดไส้นิรโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิด
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานที่ประชุม พิจารณาญัตติด่วนขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอญัตติว่า การเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ และแนวทางที่เป็นสาระสำคัญการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ ก่อนเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร แม้ในอดีตจะเคยมีการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์มาแล้ว โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีข้อเสนอให้นิรโทษกรรมด้วยก็ตาม แต่โดยบริบททางการเมืองและมูลเหตุแห่งความขัดแย้งมีความแตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งความแตกต่างหลากหลายทางความคิดเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม การทำให้ความขัดแย้งหายไป หรือการกดความขัดแย้งนั้นไว้ไม่ให้ปรากฏ จึงไม่ใช่โจทย์ของสังคมที่มีอารยะ แต่โจทย์ที่ถูกต้องคือ การทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้กับความขัดแย้ง ทำให้คนขัดแย้งกันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน ไม่ต้องทำร้าย ทำลายกัน ไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของกันและกัน และไม่ถูกคุกคามให้เกิดความกลัวจากความคิดที่แตกต่าง
น.ส.ขัตติยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วอย่างรุนแรง และซึมลึกอยู่ในสังคมไทยมากว่า 20 ปี ตั้งแต่สงครามสีเสื้อ การรัฐประหาร 19 กันยายน 49 การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 มาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี 63 และ 64
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาของความขัดแย้งดังกล่าว มีประชาชนจำนวนมากออกมาให้สิทธิเสรีภาพเพื่อแสดงความคิดเห็นและมีประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน โดยมีเหตุผลและแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกคุกคามเพื่อปิดปาก และจำจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายของรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากถูกรัฐทำให้กลายเปนผู้ต้องหาทางการเมือง นักโทษทางการเเมือง และผู้ลี้ภัยทางการเมือง
น.ส.ขัตติยากล่าวว่า คำถามคือเราจะเดินหน้าอย่างไร เพราะเมื่อมองไปข้างหลังเรายังเห็นคนร่วมชาติ ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนทางกฎหมาย กุญแจที่ปลดโซ่ตรวนคือ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อที่จะลบล้างความผิดให้กับประชาชนทุกฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวด้วยแรงจูงใจทางการเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นเดินต่อไปข้างหน้าและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนเห็นต่างขัดแย้งกันได้ภายในกรอบกติกา แม้การเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญฯอาจถูกตั้งคำถามเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดแก่ผู้กระทำผิด เป็นการยื้อเวลาของรัฐบาลหรือไม่ และอาจกังวลจะยัดไส้นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดกฎหมายต่อผู้ชุมนุม ขอยืนยัน การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานที่ผิด แต่เป็นการปลดโซ่ตรวนความขัดแย้ง ไม่ใช่ยื้อเวลา เมื่อมีความเห็นต่างจึงต้องตั้ง กมธ.เชิญชวนทุกกลุ่มมาหาทางออกอย่างรอบคอบ ไม่ให้เกิดชนวนขัดแย้งครั้งใหม่
ชมคลิป : "เดียร์ ขัตติยา" เสียงสั่น ชงตั้ง กมธ.นิรโทษกรรม
"ดิฉันในฐานะผู้แทนราษฎร และเป็นหนึ่งในผู้ที่สูญเสีย ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ดิฉันขอยืนยันในหลักการว่าจะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมต่อความผิดที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด" น.ส.ขัตติยา กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ