กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยื่นหนังสือ ก.ยุติธรรม คัดค้านการพักโทษของ "ทักษิณ"
วันนี้ (12 ก.พ.) เวลา 12.00 น. บริเวณด้านหน้ากระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ รับหนังสือร้องเรียนจาก กลุ่ม คปท. ร่วมกับ กองทัพธรรม และ ศปปส. นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล และ นายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการพักโทษกรณีพิเศษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ต้องขังเด็ดขาด ที่นอนรักษาอาการป่วย รพ.ตำรวจ อาจได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ หลังมีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และราชทัณฑ์ควบคุมตัวครบกำหนดต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน ในวันที่ 18 ก.พ.67
นายพิชิต กล่าวว่า การเดินทางมา กระทรวงยุติธรรม ทุกครั้งเพื่อต้องการพบกับ รมว.ยุติธรรม แต่ไม่เคยพบท่านเลย วันนี้มาเพื่อยื่นเจตนารมณ์ผดุงความยุติธรรม ซึ่งสังคมไทยติดใจกรณี นายทักษิณ ไม่ได้รับการลงโทษคุมขังในเรือนจำแม้แต่วันเดียว ติดใจว่า นายทักษิณ ป่วยจริงหรือไม่ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.66 จนถึงวันนี้กระทรวงยุติธรรม ได้ตอกย้ำให้ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษอีก
“คำถามแรกที่ถามยังไม่ได้รับคำตอบว่าป่วยหรือไม่ มาวันนี้กระทรวงยุติธรรมกลับทำให้มีคำถามต่อมาอีกว่าด้วยการจะพักโทษ และขอยืนยันจะคัดค้านอย่างเต็มที่ นายทักษิณเป็นนักโทษเด็ดขาดต้องคุมขังในเรือนจำไม่ใช่ที่โรงพยาบาล และกำลังจะได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ จึงขอยื่นเอกสารคัดค้านดังกล่าว”
นายพิชิต กล่าวอีกว่า การพักโทษกรณีพิเศษ นายทักษิณ มีผลกระทบทางสังคม เพราะส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่าไม่ได้ป่วยจริง แต่วันนี้สร้างคำถามใหม่อีก และยังให้ประชาชนต้องรู้เองถ้าหาก นายทักษิณ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว เป็นการตอกย้ำความแตกแยกในสังคมเข้าไปอีก ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.) จะไปพบ รมว.ยุติธรรม หลังการประชุม ครม.
ด้าน นายนัสเซอร์ กล่าวว่า วันนี้มาอยากทราบว่ารายชื่อผู้ต้องขังประมาณ 1,000 รายที่กรมราชทัณฑ์ ยื่นเสนอมายังกระทรวงยุติธรรม มีชื่อ นานทักษิณ หรือไม่ และมีเกณฑ์พิจารณาอย่างไรนอกจากการอ้างป่วยและอายุเกิน 70 ปี เพราะคุณสมบัติยังเป็นนักโทษชั้นกลาง ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์
ส่วนทาง นายสมบูรณ์ เผยว่า กรณีการพักโทษ เป็นภารกิจของกรมราชทัณฑ์ มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาเดือนละครั้ง มีการเสนอรายชื่อประมาณ 1,000 ราย แบ่งเป็น 1.กรณีปกติ 2.กรณีพิเศษ (เจ็บป่วยและอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป) และ 3.กรณีเข้าโครงการฝึกอาชีพ เช่น ทำงานภาคอุตสาหกรรม โดยผู้ได้รับการพักโทษต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หากไม่ทำตามกฎระเบียบจะมีคณะกรรมการถอนการพักโทษ พร้อมนำตัวกลับมาในเรือนจำ
นายสมบูรณ์ เผยอีกว่า ส่วน รมว.ยุติธรรม ระบุว่ารายชื่อผู้ต้องขังที่กรมราชทัณฑ์ส่งมายังกระทรวงยุติธรรม ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ เป็นการคาดการณ์เพราะในแนวปฏิบัติจะไม่มีการแถลงก่อนผู้ต้องขังจะได้รับการพักโทษ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล และปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2546 ที่เริ่มมีนโยบายการพักโทษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 ก.พ. นายทักษิณ จะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ และต้องใส่กำไล EM หรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์การพักโทษกรณีพิเศษ นักโทษชั้นกลางถือว่าเข้าเงื่อนไข หากควบคุมตัวครบ 1 ใน 3 ของโทษก็ถือว่าเป็นตามระเบียบกรมราชทัณฑ์แต่ไม่ได้หมายถึง นายทักษิณ เพียงคนเดียว รวมถึง ตามคณะอนุกรรมการตั้งแต่ปี 63 คนเจ็บป่วยและอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องใส่ EM ซึ่งการพักโทษไม่ได้พ้นโทษ ยังมีกรมคุมประพฤติคอยกำกับดูแลต้องระบุเงื่อนไข เช่น สถานที่หรือบุคคลอุปการะ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ส่วนการอายัดตัว นายทักษิณ ในคดีความผิดตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดำเนินการอย่างไร นายสมบูรณ์ เผยว่า เป็นอำนาจของอัยการพิจารณา ไม่เกี่ยวกับกระทรวงยุติธรรม และหากมีการอายัดตัวจริงอยู่กระบวนการประสานระหว่าง กรมราชทัณฑ์ และ อัยการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่าน กลุ่มมวลชนเดินทางมาร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย คปท. ร่วมกับ กองทัพธรรม และ ศปปส. ประมาณ 50 คน โดยแกนนำใช้รถกระบะติดเครื่องกระจายเสียงปราศรัย โจมตีกระบวนการยุติธรรมที่ช่วยเหลือ นายทักษิณ ให้ไม่ต้องติดคุก และเตรียมปล่อยตัวหลังมีการพิจารณาได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ