เปิดขั้นตอนพักโทษ "ทักษิณ" หลังเข้าเกณฑ์ โดยขณะนี้พักรักษาตัวที่รพ.ตำรวจ
พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยถึงขั้นตอนการปล่อยตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคุมขังบนชั้น 14 ของ รพ.ตำรวจ ว่า ขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ หากแจ้งมาว่าจะขอรับตัวออก ทางโรงพยาบาลก็มีหน้าที่ออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมแนบความเห็นแพทย์ ถึงอาการของผู้ป่วย ว่าควรรักษาตัวต่อหรือไม่ ถือว่าหมดหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจแล้ว
สำหรับขั้นตอนการรับตัวกลับ ระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลทั่วไปที่มารักษาตัวจะแตกต่างกันเพียงบุคคลที่มารับตัวเท่านั้น ซึ่งกรณีนายทักษิณ ญาติไม่สามารถมารับตัวได้ แม้มีคำสั่งพักโทษแล้วก็ตาม ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มารับไปเท่านั้น ส่วนรับออกไปแล้วจะส่งมอบให้ญาติ หรือมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร เป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์
ส่วนระยะเวลาการขอรับตัว ที่ผ่านมาไม่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องแจ้งโรงพยาบาลก่อนกี่วัน เพราะผู้ต้องขังที่ถูกส่งตัวมารักษาจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว สามารถประสานโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึงเที่ยงคืน 1 นาที ของวันที่มีการพักโทษ ก็สามารถแจ้งขอออกจากโรงพยาบาลได้หากมีความประสงค์
สำหรับเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ ของผู้ที่ได้รับการพักโทษระบุไว้ 8 ข้อด้วยกันประกอบด้วย
1.ผู้ได้รับการพักโทษ จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ
2.ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต
3.ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพย์ติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก
4.ต้องประกอบอาชีพโดยสุจริต
5.ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา
6.ห้ามพกพาอาวุธ
7.ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ
8.ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน
ทั้งนี้ผู้ได้รับการพักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปไม่ต้องใส่กำไลEM เพราะถือว่าอยู่ในเงื่อนไขและต้องมีการเก็บข้อมูลมาประเมินร่วมด้วยว่าคนกลุ่มนี้ไม่เคยกระทำผิดซ้ำ