สำรวจบาดแผลของ 3 ซีอีโอแห่งยุค สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) , อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และ แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ที่เคยถูกไล่ออก จากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง แต่แทนที่จะทำให้พวกเขาหมดสภาพ กลายเป็นว่า กลับผงาดได้ยิ่งใหญ่กว่าเดิมหลายเท่าตัว

สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) , อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และ แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ทั้งสามถือได้ว่าเป็นสุดยอดซีอีโอแห่งยุค ที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับโลกใบนี้อย่างสะเทือนเลื่อนลั่น และอีกสิ่งหนึ่งที่ทั้งสามเคยมีประสบการณ์เหมือนกันก็คือ ความรู้สึกเจ็บปวดหัวใจ อันเนื่องมาจากถูกบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งมากับมือ ไล่ออก โดย “สูตรสำเร็จ” ขอเล่าสู่กันดังต่อไปนี้

 

 

1. สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs)

บริษัทแอปเปิล (Apple) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2519 (ค.ศ.1976) โดย สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs)  , สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) และ โรนัลด์ เวนน์ (Ronald Wayne)

แอปเปิล ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับคอมพิวเตอร์รุ่นแรกของบริษัท ในปีต่อมา Apple II ก็มียอดจำหน่ายในระดับถล่มทลาย ทำให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว

และเพื่อให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จึงได้มีการว่าจ้างซีอีโอมืออาชีพมาบริหารจัดการ คนแรกได้แก่ ไมเคิล สกอตต์ (Michael Scott) คนต่อมาก็คือ จอห์น สกัลลีย์ (John Sculley) อดีตซีอีโอเป๊บซี่ ที่ สตีฟ จอบส์ ติดต่อทาบทามด้วยตัวเอง

แต่ช่วงหวานชื่นระหว่าง จอบส์ กับ สกัลลีย์ ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ทั้งสองงัดข้อกันหลายครั้ง ประกอบกับพนักงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยปลื้มกับการถูกกดดันให้ทำงานอย่างหนักในสไตล์ของ จอบส์ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ช่วงหลังๆ ที่ จอบส์ พยายามผลักดัน ใช้เงินลงทุนสูง แต่กลับแป้กสนิท ทำให้บารมีของ จอบส์ ลดลงอย่างฮวบฮาบ

โดยจุดแตกหักของศึก จอบส์ VS สกัลลีย์ เกิดขึ้นในปี 2528 (ค.ศ.1985) จอบส์ เป็นฝ่ายเดินเกมพลาด หลังจากได้ยินข่าวลือว่า “บอร์ดบริหาร” มีความพยายามที่จะลดบทบาทของเขา ทำให้ จอบส์ เลือดขึ้นหน้าเดินเกมเคลื่อนไหวอย่างโฉ่งฉ่างเพื่อหาทางปลด “บอร์ดบริหาร”

และเมื่อ สกัลลีย์ สังเกตเห็นความพยายามดังกล่าว ก็เหมือนบอลไหลเข้าตีนเต็มๆ เขาจึงแจ้งถึงการกระทำของ จอบส์ ให้ “บอร์ดบริหาร” ทราบ ทั้งหมดจึงชิงลงมือก่อน โหวตปลด จอบส์ ออกจากหน้าที่ต่างๆ ในบริษัท

จอบส์ ออกจาก แอปเปิล อย่างบอบช้ำ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า เน็กซ์ (NeXT) และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับการผลักดันบริษัทแอนิเมชัน Pixar จนทำให้ชื่อของเขาโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งในฐานะซีอีโอผู้มีวิสัยทัศน์  

ในทางตรงกันข้าม แอปเปิล กำลังประสบวิกฤตอย่างหนัก และต้องการให้ จอบส์ กลับมากู้สถานการณ์ ในปี (ค.ศ.1996) แอปเปิล จึงตัดสินใจซื้อ เน็กซ์ ทำให้ จอบส์ ได้เงินเข้ากระเป๋าไปเป็นจำนวนมาก ก่อนยื่นข้อเสนอให้เขาเป็นซีอีโอของ แอปเปิล

ซึ่งเขาก็ตอบตกลง และขอเงินเดือนเพียงแค่ 1 ดอลลาร์ (เหมือนเอาฮา) แต่ในความเป็นจริงแล้ว จอบส์ ได้จำนวนหุ้นจาก แอปเปิล ไปเพียบ อีกทั้งยังได้เครื่องบินส่วนตัวสุดหรู ฯลฯ ซึ่งจะว่าไปแล้วค่าตอบแทนต่างๆ ที่เขาได้จาก แอปเปิล ถ้านำมาคำนวณเป็นเงินเดือน น่าจะสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

จอบส์ บริหาร แอปเปิล ด้วยกลยุทธ์ Think Different (คิดต่าง) ก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะ iPhone ที่ทำให้ แอปเปิล กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ของโลกมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

2. อีลอน มัสก์ (Elon Musk)

ส่วนในกรณีของ อีลอน มัสก์ หลังจบการศึกษา เขาได้นำเงินกว่า 2 หมื่นดอลลาร์ หุ้นกับญาติเปิดบริษัท Zip 2 เว็บไซต์ท่องเที่ยวออนไลน์ขึ้นมา ก่อนถูก Compaq ซื้อไปในราคา 307 ล้านดอลลาร์ โดย อีลอน มัสก์ ได้ส่วนแบ่ง 22 ล้านดอลลาร์

หลังจากนั้นเขาก็ร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิด x.com ธนาคารออนไลน์ขึ้นมา ก่อนจะควบรวมกิจการกับ คอนฟินิตี้ (Confinity) โดย อีลอน มัสก์ ได้รับการสนับสนุนให้เป็นซีอีโอของบริษัท แต่ด้วยสไตล์การทำงานที่สร้างความอึดอัดและไม่พอใจให้กลุ่มผู้บริหารและพนักงาน ทำให้เขาถูกโหวตปลดออกจากตำแหน่งซีอีโอในเวลาต่อมา แต่ก็ยังมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำนวนมาก

หลังจากนั้น x.com กับ คอนฟินิตี้ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น เพย์แพล (PayPal) โดยมี ปีเตอร์ ธีล (Peter Thiel) รับหน้าที่ซีอีโอ และขายให้กับ อีเบย์ (eBay) ในปี 2545 (ค.ศ.2002) ได้เงินมากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดย อีลอน มัสก์ ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้เงินไปเกือบ 176 ล้านดอลลาร์  

อีลอน มัสก์ ได้นำเงินดังกล่าวไปปลุกปั้น สเปซเอ็กซ์ (Spacex) และผลักดัน เทสลา (Tesla) ให้เป็นบริษัทสุดยอดนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง จนทำให้เขาเคยได้ชื่อว่า มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก มาแล้ว   

 

 

3. แซม อัลท์แมน (Sam Altman)

ส่วนกรณีที่ซีอีโอถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง รายล่าสุดก็คือ แซม อัลท์แมน (Sam Altman) จนกลายเป็นข่าวดังในแวดวงธุรกิจเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว

แซม อัลท์แมน เป็นซีอีโอของ โอเพ่น เอไอ (Open AI) เจ้าของนวัตกรรมสุดล้ำอย่าง แชตจีพีที (ChatGPT) และที่เพิ่งสร้างเซอร์ไพรส์ในระดับโลกตะลึง นั่นก็คือ โซรา (SORA) AI ที่สามารถสร้างคลิปวีดีโอขั้นเทพได้อย่างเหลือเชื่อ  

แซม อัลท์แมน เป็น 1 ใน 6 ผู้ก่อตั้ง โอเพ่น เอไอ ในปี 2558 (ค.ศ.2015) ซึ่งด้วยผลงานที่ผ่านมา ทำให้เขาถูกจับจ้องในฐานะซีอีโอผู้พลิกโลกคนล่าสุด

แต่ถึงกระนั้นก็ตามที บอร์ดบริหารของ โอเพ่น เอไอ กลับไม่ปลื้มกับวิธีการทำงานของ แซม อัลท์แมน นัก โดยให้เหตุผลในการปลดฟ้าผ่าว่า

“เขาไม่ได้สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและสม่ำเสมอกับทางคณะกรรมการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรับผิดชอบของคณะกรรมการ ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการจึงไม่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของอัลต์แมน ในการที่จะเป็นผู้นำ โอเพ่น เอไอ”

แต่หลังจากมีประกาศดังกล่าวออกมา ก็ส่งแรงกระเพื่อมทันที โดยพนักงานจำนวนมากขู่ลาออก ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับ โอเพ่น เอไอ อย่างไม่อาจประเมินได้ และนำไปสู่วิกฤตที่ยากจะรับมือ

หลังจากนั้นไม่กี่วัน บอร์ดบริหารยอมเสียฟอร์ม ยกเลิกคำสั่งปลดดังกล่าว ทำให้ แซม อัลท์แมน ยังคงเป็นซีอีโอ โอเพ่น เอไอ ต่อไป แต่จากการวัดพลังกันในครั้งนี้ ก่อนบอร์ดฯ ต้องยอมถอยอย่างหมดท่า ก็เชื่อได้เลยว่า อำนาจบารมีของ แซม อัลท์แมน จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าทวีคูณ

 

บทความโดย ศราวุธ เอี่ยมเซี่ยม