มข. ยื่นฟ้องกองประกวดกัมพูชา หลังพบนำผลงานนักศึกษาไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ยืนยันทำเพื่อลิขสิทธิ์คนไทยและผลงานของนักวิจัย
วันที่ 20 ก.พ. 2567 ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รองคณบดีฝ่านวิจัย นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ได้นำผลงานวิจัยและคลิปบันทึกผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 รายวิชานาฏศิลป์อีสานและดนตรีพื้นเมือง 2 สาขาหลักสูตรศิลปการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ประจำปีการศึกษา 2564 ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ในชื่อชุด กรรมาระเตง ชะคะตะ ศรีศิขรีศวร (Apsara Thai Traditional Dance) มาแสดงต่อสื่อมวลชน เพื่อยืนยันถึงผลงานวิจัยของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายเอาผิด กองประกวดรอบชิงชนะเลิศรายการหนึ่ง ที่ประเทศกัมพูชา หลังพบมีการนำผลงานดังกล่าวไปใช้ในการประกวดโดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของผลงาน และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข.
ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รองคณบดีฝ่านวิจัยนวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำผลงาน รวมทั้งเอกสารหลักฐานงานวิจัยและผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2564 ทั้งหมดที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ส่งมอบต่อกองกฎหมายขอ มข. โดยได้นำเรื่องทั้งหมดหารือและขอรับคำแนะนำจาก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ และอธิการบดี มข. แล้ว ซึ่งทุกท่านเห็นด้วยในการรักษาลิขสิทธิ์ของคนไทยและเป็นผลงานวิจัยของนักศึกษา มข. ที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้มีการขออนุญาตที่ถูกต้อง
ซึ่งประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นในกองประกวด ที่กัมพูชาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยพบว่า มีการนำเอาเฉพาะเสียงดนตรีและจังหวะดนตรี ที่เป็นผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากการค้นคว้าและคณะอาจารย์ มข. ในปี 2564 มาเป็นเพลงประกอบในช่วงการประกวดรอบชุดประจำชาติ ซึ่งเปิดถึง 2 ครั้ง และมีการนำเพลงประกอบไปใช้ในการจัดทำคลิปของกองประกวด
“การประกวดดังกล่าวเป็นที่จับตามองของคนทั่วทั้งโลก และรอบชิงชนะเลิศ หรือรอบสุดท้ายนั้น จัดการประกวดที่ประเทศกัมพูชา และพบว่ามีการนำเอาเพลงซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา มข. ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของคณะฯ และมหาวิทยาลัยฯ ไปใช้งาน จึงได้สอบถามไปยังนายณัฐพงษ์ เดชบุญ เจ้าของผลงาน ซึ่งขณะนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของคณะฯ ที่ได้ร่วมกับเพื่อนนำผลงานกลุ่มในรายวิชานาฏศิลป์อีสานและดนตรีพื้นเมือง 2 ซึ่งได้เสนอเค้าโครงการงานวิจัยที่เป็นศิลปของกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ ซึ่งคณะอาจารย์ได้ตรวจสอบเค้าโครง และการถ่ายทำทั้งหมด ยืนยันว่าเป็นผลงานของกลุ่มวัฒนธรรมอีสานใต้ เนื่องจากนักศึกษากลุ่มดังกล่าวชื่นชอบปราสาท ชื่นชอบวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ จึงขอทำวิจัยในศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศิวะ การดำรงชีวิตของคนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอีสานใต้ที่มีต่อขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย จนกลายเป็นผลงาน ชุด กรรมาระเตง ชะคะตะ ศรีศิขรีศวร (Apsara Thai Traditional Dance) โดยในช่วงปี 2564 นั้นเกิดโควิด การส่งงานจึงทำและบันทึกลงเป็นคลิปส่งงานของนักศึกษาทุกกลุ่มและทุกชั้นปี และทุกรายวิชา ผ่านเพจและยูทูปของคณะฯ ในชื่อ “นาฎศิลป์สินไซ”
ผศ.ดร.พชญ กล่าวต่ออีกว่า ผลงานชิ้นดังกล่าวยอมรับเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก โดยมียอดชมเกือบ 2 ล้านคน และมีการคอมเมนท์และแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะกับชาวต่างชาติอย่างมาก ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของนักศึกษาฯ คณะฯ และมหาวิทยาลัย ที่วิจัยด้านศิลปวัฒธรรมไทยที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งพบว่าในการประกวดซึ่งมีการไลฟ์สดในเพจของกองประกวด และเพจต่างๆ อีกรวมกว่า 7-8 เพจ เท่าที่ตรวจสอบได้ โดยสอบถามนักศึกษาเจ้าของผลงานกลุ่มนักศึกษา รวมทั้งคณะฯ หรือมหาวิทยาลัย รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานดังกล่าว ล้วนต่างยืนยันว่าไม่ได้รับการประสานจากกองประกวดแต่อย่างใด จึงตัดสินใจรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดกับกองประกวด ซึ่งขณะนี้ผ่านขั้นตอนของกองกฎหมายมหาวิทยาลัยแล้ว และจะเข้าสู่การยื่นเรื่องกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. เพื่อเอาผิดทางกฎหมาย แต่ด้วยเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ก็ยังคงหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงวัฒนธรรม หรือหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาปกป้องผลงานวิจัย ผลงานของนักศึกษาที่เป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยในครั้งนี้ร่วมกัน
“ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษากลุ่มนี้ กำกับและดูแลนักศึกษาด้านศิลปการแสดงและวัฒนธรรม เมื่อผลงานวิจัยของนักศึกษา ถูกนำไปใช้โดยไม่ขออนุญาต และนำไปใช้ในเวทีระดับโลกเช่นนี้ ก็ต้องออกมาปกป้องและรักษาสิทธิ์ผลงานของนักศึกษา ผลงานของคณะฯ และมหาวิทยาลัยฯ โดยไม่ได้ก้าวล่วงถึงการอ้างสิทธิ์ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย แต่กำลังรักษาผลงานและลิขสิทธิ์ของคนไทยอย่างเต็มที่”