ปิดภารกิจ 19 วัน เรือหลวงสุโขทัย ไม่พบ 5 กำลังพลผู้สูญหาย ขณะที่เรืออยู่ในสถานะที่ไม่มีผลกระทบต่อการเดินเรือ คนหรือสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยกองทัพเรือยังไม่มีแผนนำเรือหลวงสุโขทัยขึ้นเหนือผิวน้ำ อาจจอดสงบนิ่งใต้ทะเลลึกตลอดไป

วันนี้ 11 มีนาคม 2567 เวลา 14.00 น. พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม  ผู้บัญชาการทหารเรือ  พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการค้นหาและตรวจวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยบนเรือ  Ocean Valor โดยมีพลเรือเอก ชาติชาย  ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ โดยการปฏิบัติการในวันนี้เป็นวันที่ 19  ภายหลังการตรวจเยี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยเป็นผู้แถลงข่าวปิดการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย บนเรือหลวงอ่างทอง โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย พลเรือตรี วิชชุ บำรุง ผู้บังคับหมวดเรือปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย   เรือเอก Will Rittenhouse ผู้บัญชาการภารกิจ (Mission Commander) ของชุดประดาน้ำผสม ทร. - ทร.สหรัฐฯ เรือตรี ธงบุญ เพ็งแก้ว นักประดาน้ำ ทร.และทำหน้าที่นายทหารติดต่อในชุดประดาน้ำผสม ทร. - ทร.สหรัฐฯ ร่วมแถลงข่าว 

พลเรือเอก ชาติชาย  ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย กล่าวว่า  สำหรับภารกิจการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ โดยกองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกได้ส่งกำลังประกอบด้วย เรือกู้ซ่อมชื่อ Ocean Valor และทีมนักประดาน้ำของกองทัพเรือสหรัฐฯ มาร่วมปฏิบัติการภายในกรอบการฝึกร่วม/ผสมคอบร้าโกลด์ 2024 ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์  ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2567 รวมเวลาปฏิบัติการจำนวน 19 วัน โดยมีภารกิจที่ปฏิบัติจำนวน 4 ภารกิจคือ การค้นหาผู้สูญหายจำนวน 5 คนที่อาจติดอยู่ภายในเรือ การตรวจสอบวัตถุพยานที่ตัวเรือเพื่อประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการอับปางของ เรือหลวงสุโขทัย การปลดวัตถุอันตรายและการทำให้ยุทโธปกรณ์สำคัญของสหรัฐฯ หมดขีดความสามารถ (Demilitarization) และการนำสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจของ เรือหลวงสุโขทัย ขึ้นมาทำอนุสรณ์สถาน

สำหรับ เรือหลวงสุโขทัย ​จมอยู่ที่ความลึก 50 เมตร ใน ทางทิศตะวันออกของท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 22  ไมล์ทะเล หรือ 39.6 กิโลเมตร จากการตรวจสอบ ไม่พบการรั่วไหลของน้ำมันหรือสารเคมีต่าง ๆ 
​ 
ทั้งนี้กองทัพเรือ ได้จัดตั้งกองอำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย ที่อาคารสำนักงานท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีกำลังประกอบด้วย เรือของ กองทัพเรือ จำนวน 7 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 2 เครื่อง เรือกู้ซ่อม Ocean Valor ของสหรัฐฯ ชุดประดาน้ำจำนวน 2 ชุดได้แก่ ชุดประดาน้ำผสม ทร. - ทร.สหรัฐฯ ประกอบด้วยนักดำฝ่ายละ 7 นาย รวม 14 นาย  ใช้เรือ Ocean Valor เป็นฐานปฏิบัติการ และใช้อุปกรณ์การดำระบบ Surface Supply Air Equipment หรืออุปกรณ์ส่งอากาศจากผิวน้ำให้นักดำที่สวมหัวครอบดำน้ำ และชุดประดาน้ำ กองทัพเรือ จำนวน 40 นาย ใช้ เรือหลวงมันใน เป็นฐานปฏิบัติการ และใช้อุปกรณ์ดำน้ำแบบ SCUBA

ผลการค้นหาผู้สูญหายที่อาจติดอยู่ในเรือ จำนวน 11 ห้อง รวมถึงทุกจุดที่นักประดาน้ำจะสามารถดำน้ำเข้าไปตรวจสอบได้ และพื้นที่โดยรอบเรือ ปรากฎว่าไม่พบร่องรอยของกำลังพลผู้สูญหาย ทั้ง 5 นายแต่อย่างใด

ส่วนผลการปลดวัตถุอันตรายและการทำให้ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของสหรัฐ หมดขีดความสามารถ จำนวน 3 รายการคือ อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นฮาร์พูน และ ตอร์ปิโด MK-309 โดยทำให้ระบบควบคุม รวมทั้งท่อยิงหมดขีดความสามารถ  และเครื่องมือสื่อสาร จำนวน 21 รายการ ในห้องวิทยุ หมดขีดความสามารถ

นอกจากนั้น ยังสามารถนำวัตถุของเรือขึ้นมาได้จำนวน 11 รายการ ได้แก่ ป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย พญาครุฑประจำเรือ พุทธรูปประจำเรือ พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แผ่นนูนรูปเสด็จเตี่ย ระฆังเรือ ธงราชนาวีผืนใหญ่ เสากระโดงเรือ สมอเรือ ป้ายขึ้นระวางประจำการเรือ และป้ายรายนามผู้บังคับการเรือ

สรุปผลการปฏิบัติในการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย สามารถบรรลุภารกิจและวัตถุประสงค์  ได้แก่ การค้นหาผู้สูญหาย การตรวจสอบวัตถุพยาน การปลดวัตถุอันตราย และการนำวัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจของ เรือหลวงสุโขทัย ขึ้นมา โดยการปฏิบัติการจำนวน 19 วัน ชุดปฏิบัติการผสม ทร.ไทย/สหรัฐฯ  และชุดปฏิบัติการดำน้ำของ  ทร. มีการปฏิบัติการดำน้ำ รวม 82 เที่ยว เป็นเวลา รวม 67 ชั่วโมง 53 นาที เก็บวัตถุพยานจำนวน 58 รายการ  นักดำน้ำทั้งหมดมีความปลอดภัย ถือเป็นความสำเร็จในการปฏิบัติงานร่วมกันของ กองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ   

โดยสถานะของเรือหลวงสุโขทัย  ในปัจจุบันอยู่ในสถานะที่ไม่มีผลกระทบต่อการเดินเรือ  ไม่มีวัตถุและสิ่งที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ไม่มีวัตถุอันตรายต่อคนและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล รวมทั้งไม่มีขีดความสามารถทางทหารที่จะสามารถนำไปใช้ได้อีก ทั้งนี้กองทัพเรือยังไม่มีแผนนำเรือหลวงสุโขทัยขึ้นเหนือผิวน้ำ อาจจอดสงบนิ่งใต้ทะเลลึกตลอดไป

​หลังจากปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเสร็จสิ้นในวันนี้ สิ่งที่ กองทัพเรือ จะดำเนินการต่อไปคือ การรวบรวมยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์และสิ่งของ ของเรือหลวงสุโขทัย ที่เก็บกู้ได้นำส่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบต่อไป โดยเรือ Ocean Valor ของสหรัฐฯ จะเดินทางไปส่งสิ่งของ ของเรือหลวงสุโขทัย ที่ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ ในวัน 12 มีนาคม 2567
​ 
ในส่วนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี เรือหลวงสุโขทัย อับปาง จะสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริง จากข้อมูลและพยานวัตถุที่สำรวจตรวจสอบและเก็บกู้ได้จากการปฏิบัติการครั้งนี้ และ กองทัพเรือจะจัดให้มีการแถลงข่าวในโอกาสต่อไป
​   
อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือจะดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน เรือหลวงสุโขทัย โดยใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนของเรือที่ถอดถอนและนำขึ้นมาได้จากการปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อรำลึกถึง เรือหลวง สุโขทัย รวมทั้งความกล้าหาญและความเสียสละของกำลังพลที่เสียชีวิตและสูญหาย.