อัยการสูงสุด เคาะไม่อุทธรณ์ต่อ คดียิ่งลักษณ์ โยกย้ายถวิล พ้นเลขาฯสมช.
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดเห็นชอบควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษายกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
คดีนี้ อัยการสูงสุดรับดำเนินคดีอาญาฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.11/2565 โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งโยกย้าย และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 57 วรรคสอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง และเชื่อมโยงกับการโอนย้ายพลตำรวจเอก ว. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน และบรรจุแต่งตั้งพลตำรวจเอก พ. ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพลตำรวจเอก พ. เครือญาติของจำเลย
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย
อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเห็นควรไม่อุทธรณ์ และจะได้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบและรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบการพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 79 วรรคสอง ต่อไป
นายประยุทธ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่าตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบและรับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกอบการพิจารณานั้นเมื่อ ป.ป.ช.ทำความเห็นก็จะส่งมาให้ อสส.พิจารณาอีกที ซึ่งความเห็นของ ป.ป.ช.นั้นไม่ผูกมัดอสส.ว่าจะต้องเห็นตาม โดย ป.ป.ช.ไม่สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯได้เอง