รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ปรับแผนการเดินรถจากเหตุขัดข้อง ตามมาตรฐานความปลอดภัยพร้อมปรับลดค่าโดยสาร 20% จนกว่าจะเดินรถได้ตามปกติ

วันที่ 29 มี.ค.2567 เพจ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง โพสต์แจ้งเรื่องเปิดใช้บริการ ความว่า บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดเผยถึง การปรับแผนเดินรถไฟฟ้า จากกรณีชิ้นส่วนอุปกรณ์ ตัวจ่ายไฟถูกกระแทกว่า หลังเกิดเหตุทุกหน่วยงาน ทั้งตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม, กรมการขนส่งทางราง, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ EBM ได้ประชุมร่วมกัน เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ และแนวทางการป้องกัน โดยได้หยุดให้บริการในวันที่ 28 มีนาคม 2567 ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์

 

 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า แผ่นเหล็ก (Finger Plate) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของทางวิ่ง (Expansion Joint) ได้เลื่อนออกจากตำแหน่ง เมื่อขบวนรถเคลื่อนที่ผ่าน ทำให้แผ่นเหล็กดังกล่าวเคลื่อนตัวไปกระแทกรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกจากตำแหน่ง ระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) – สถานีศรีอุดม (YL16) ทั้งนี้ภายหลังจากการหยุดให้บริการได้ทำการตรวจสอบการจับยึด และตำแหน่งของแผ่นเหล็กดังกล่าวตลอดเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนการเปิดให้บริการในวันถัดไป

สำหรับการป้องกันในอนาคต EBM ได้ประสานงานไปยังผู้ผลิต และออกแบบอุปกรณ์จับยึดดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไข และมาตรการป้องกันร่วมกัน

ทั้งนี้จากการตรวจสอบโดยละเอียด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย จึงปรับแผนการเดินรถตามเส้นทาง และความถี่ ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2567 เป็นต้นไป พร้อมปรับลดอัตราค่าโดยสาร 20% ตลอดเส้นทางให้กับผู้โดยสาร จนกว่าจะกลับมาให้บริการเดินรถได้ตามปกติ (สำหรับผู้ที่ถือบัตรแรบบิท กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร เพื่อขอรับส่วนลดค่าโดยสาร)

 

 

ส่วนการปรับรูปแบบการเดินรถชั่วคราว มีดังนี้

• สถานีลาดพร้าว (YL01) – สถานีหัวหมาก (YL11) เดินรถปกติ และมีความถี่ในการเดินรถ
10 นาที/ขบวน และช่วงเวลาเร่งด่วน 5 นาที/ขบวน

• สถานีศรีเอี่ยม (YL17) – สถานีสำโรง (YL23) เดินรถปกติ และความถี่ในการเดินรถ
10 นาที/ขบวน

• สถานีหัวหมาก (YL11) – สถานีศรีเอี่ยม (YL17) ความถี่ในการเดินรถ 25 นาที/ขบวน

ทั้งนี้ผู้โดยสารที่เดินทางช่วงสถานีหัวหมาก (YL11) – สถานีศรีเอี่ยม (YL17) ต้องรอขบวนรถนานกว่าปกติ ผู้โดยสารกรุณาเผื่อเวลาในการเดินทาง และหากมีการเปลี่ยนแปลง เรื่องเส้นทางการให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

 

 

 

นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ได้ประสานงานไปยังองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารสาธารณะ รับ–ส่งผู้โดยสาร ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และทางขสมก. ได้เพิ่มจำนวนรถไว้ให้บริการในช่วงเช้าอีกประมาณ 10–15 คัน และช่วงเย็นประมาณ 10 คัน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ หลุดร่วงลงพื้นที่ถนน และมีรถยนต์ได้รับความเสียหาย ทางบริษัทฯ ได้ประสานงานกับบริษัทประกัน เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นที่เรียบร้อย