วันที่ 10 เมษายน 2567 มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำแถลงข่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 พร้อมกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลมีความยินดี จะประกาศให้ประชาชนทราบว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยรัฐบาลได้ใช้ความพยายามอย่างสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เพื่อพลิกชีวิตให้กับประชาชนและที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4 ของปีนี้
พร้อมยืนยันว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ที่จะเกิดการลงทุนขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะได้รับผลการตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี เป็นการเตรียมความพร้อมประเทศให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ในการพึ่งพาตัวเอง และยังก่อให้เกิดเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
โดยจะให้สิทธิ์ประชาชนจำนวน 50 ล้านคนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดเพื่อเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2 ถึงร้อยละ 1.6
นายเศรษฐา ยังยืนยันอีกว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซื่อสัตย์สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง รวมถึงรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินกู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณในปี 2567 และ 2568 ควบคู่กันไป แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 เป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท โดยได้ขยายกรอบวงเงินในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ 2 จะมาจากการเติมเงินผ่านโครงการหน่วยงานของรัฐจำนวน 172,300 ล้านบาท ซึ่งจะใช้มาตรา 28 โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกงบประมาณของปี 2568 และส่วนที่ 3 จะมาจากการจัดสรรงบประมาณของปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาว่า งบรายจ่ายสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยอาจจะมีการพิจารณางบกลางมาใช้ร่วมด้วย ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ โดยวงเงินทั้ง 3 ส่วน เมื่อรวมกันจะครบทั้ง 5 แสนล้านบาทพอดี ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งกฎหมายวินัยการเงินการคลัง หรือกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อกังวล โดยวันที่เริ่มโครงการจะมีเงินงบประมาณเต็มจำนวน 500,000 ล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่ได้มีเงินสกุลอื่นหรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีการเห็นชอบหลายเรื่องโดยเฉพาะ มีการคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจในปี 2567 จะมีการขยายตัวและเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายหลังโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนและกระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนโดยมีขอบเขตและเงื่อนไข ตลอดจนรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการได้วางแนวทางและรายละเอียดไว้ดังนี้
1.กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2.เงื่อนไขการใช้จ่าย
1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย
2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
5. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องของการทุจริต
6. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
7. เพื่อป้องกันการทุจริตของโครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกรรมการ และที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล wallet โดยมีตนเอง คือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธานมีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานงานและการประชาสัมพันธ์โครงการ
ทั้งนี้ ในวันนี้คณะกรรมการมีมติเห็นชอบในทุกประเด็นและมอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการและกรรมการ นำมติที่ได้รับการเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความรู้สึกภายหลังแถลงความชัดเจนโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สบายใจขึ้นหรือไม่ ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดไว้ ไม่ได้มีอะไรผิดแปลก เมื่อสื่อถามมาก็ตอบไปหมดแล้ว วันนี้ก็ให้กลไกดำเนินการไป และประชาชนทุกคนจะได้เงินตามที่กำหนดไว้ว่า 50 ล้านคน
ส่วนอยากบอกอะไรกับประชาชนที่รอ และวันนี้มีความชัดเจนแล้ว นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก็บอกไปแล้วเรียบร้อยแล้ว ทุกคนมองว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ทุกคนได้เงินแล้ว
สำหรับหลักเกณฑ์คนที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ไม่เข้าเงื่อนไขอาจจะมีความรู้สึกนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองได้ทำตามคำแนะนำของแบงค์ชาติว่าให้ดูแลเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น คนที่มีเยอะแล้วก็เป็นไปตามนั้น เพราะเป็นเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นหลายภาคส่วน
ขณธที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี นำทีมแถลงความคืบหน้าของโครงการดิจิทัล 10,000 บาท ว่า ยังขาดความชัดเจนในหลายเรื่อง แม้จะมีการบอกที่มาของเงิน บอกว่าอยู่ในระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 แต่สุดท้ายมันคือการกู้เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุล ของแต่ละปีอยู่ดี รวมไปถึงการกู้ ธอส.ด้วย ซึ่งแหล่งที่มาของเงินทั้ง 3 แหล่งนั้น สะท้อนให้เห็น ว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมการอะไรไว้ล่วงหน้า งบปี 2568 ที่ทำเสร็จแล้วก็ต้องรื้อ
สิ่งที่มีข้อกังวล คือ เรื่องข้อจำกัดทางกฏหมาย ธ.ก.ส. ที่กำหนดหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการเกษตร-เพิ่มผลผลิต ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อาจต้องส่งกฤษฎีกาตีความ เหมือนตอนธนาคารออมสินหรือไม่ เนื่องจากยังมีความคลุมเครืออยู่
ส่วนเรื่องของรายละเอียดโครงการก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยจะให้เฉพาะร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการ ก็ถือว่าเป็นนิมิหมายที่ดี ที่ยอมฟังเสียงประชาชนและผู้ทักท้วง เพื่อไม่ให้ต้องการอยู่ในมือทุนใหญ่ทั้งหมด แต่คำนิยามของคำว่าร้านค้าขนาดเล็กกลับไปรวมร้านค้าสะดวกซื้อ จึงมีความกังวลใจ เพราะเมื่อประกอบกับการไม่ได้ใช้เงินสด ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กไม่กล้าเข้าร่วมโครงการ ก็คิดว่าเงินดิจิตอล 10,000 บาท ก็น่าจะไหลเข้าสู่ร้านค้าสะดวกซื้อ (เซเว่นฯ) มากกว่า เพราะเขามีสายป่านยาวมากพอที่จะรอแลกเงินดิจิตอลเป็นเงินสด
เมื่แถามว่า ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจนว่าร้านค้าสะดวกซื้อนั่นหมายถึงเซเว่นด้วย แบบนี้สุดท้ายก็จะเป็นการเอื้อในทุนอีกหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าประสงค์หลักของโครงการนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ปรากฏใน GDP เพราะฉะนั้นการเข้ากระเป๋าคนตัวเล็กหรือตัวใหญ่รัฐบาลอาจจะไม่ได้แคร์ แต่เราก็อยากจะฝากให้รัฐบาลฉุกคิดนิดนึงว่า อย่าให้มันไหลไปอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ที่เป็นเชนขนาดใหญ่มากขนาดนั้น เพราะการที่เงินจะหมุนเวียนในชุมชนได้ มันก็ต้องพึ่งพาร้านขนาดเล็ก ร้านอาหาร แผงลอย รถเข็น ที่เขาจะได้จับจ่ายใช้สอย จึงควรหามาตรการที่จะดึงร้านค้ารายเล็กเข้ามาร่วมโครงการ อย่าให้ไปตกอยู่ในมือของทุนใหญ่
ขณะที่เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ นางสาวศิริกัญญา มองว่า สิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 1.2 ถึง 1.6% นั้น เป็นระดับที่ค่อนข้างสูง กว่าที่หลายๆสถาบันวิจัย ได้มีการประเมินออกมา ซึ่งมากที่สุดคือ 1% พร้อมกับมองว่ารัฐบาลอาจจะมองโลกในแง่ดี แต่ก็ต้องลุ้นกันดู ว่า ในปี 2568 GDP จะสามารถโตได้ 1.6 ซึ่งเกือบ 5% แต่ปัญหาคือว่า ปีที่เราทุ่มเทงบประมาณทั้งหมด ทรัพยากรที่มี ก็จะโตได้เพียงแค่ 5% เท่านั้นแล้วปีที่เหลือ ที่ไม่เหลือเงินจะไปทำเรื่องอื่นแล้ว สุดท้ายแล้ว 4 ปีจะเฉลี่ยโต 5% คงเป็นไปไม่ได้สำหรับรัฐบาลเพื่อไทย
"วันนี้ให้ความรู้สึกว่ารัฐบาลเอาจริงเดินหน้าเอาแน่ เหมือนเลือดเข้าตาแล้ว ทำทุกวิธีทางคว้าอะไรได้ก็เอามาโปะ สำหรับดิจิตอล wallet ทั้งหมด โดยไม่ได้เตรียมการอะไรมาก่อนล่วงหน้า แต่พบความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า จะเห็นได้ว่า 68 ก็ต้องรื้องบใหม่ทั้งหมด ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว งบ 67 ผ่านสภาไปแล้ว ก็ต้องรื้อใหม่อีกรอบนึง มันแสดงอาการไม่พร้อมแต่มั่นใจ สุดท้ายก็เป็นภาระของประชาชนอีกที่จะต้องลุ้นว่าไตรมาส 4 จะได้ใช้เงินหรือไม่"
นางสาวศิริกัญญา ยังฝากถึงนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ความชัดเจนของเราไม่เท่ากัน เราต้องการความชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้จริงถ้าประชาชนขาดความเชื่อมั่น ว่าสรุปแล้วฉันจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ ได้เงินมาแล้วจะใช้จ่ายได้ทุกร้านค้าทุกที่หรือไม่ อันนี้มันเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งสิ้น ถ้าทุกอย่างยังไม่ชัดเจนก็ไม่ควรรีบออกมาแถลง รัฐบาลจะเสียเองในเรื่องของความเชื่อ