จากกรณีข่าวช่อง 8 รายงานข่าว ตายายมาเข้าพบ ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร เพื่อปรึกษาและขอความช่วยเหลือเป็นการด่วน เนื่องจากหลานซึ่งเป็นนักศึกษาปี 5 คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ที่อาจจะต้องหยุดเรียนกลางคัน ทั้งที่เหลืออีกเพียง 1 ปี จะเรียนจบคณะทันตแพทยศาสตร์ สาเหตุเนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน ไม่มีทุนที่จะเรียนต่อ กระทั่งเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล นั้น
ล่าสุด (20 เม.ย. 2567) ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ได้เดินทางมาที่บ้าน ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย เพื่อมาพบกับนายศตวรรษ นักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 ซึ่งอยู่ที่บ้านกับตายาย จากการสำรวจบ้านพบว่าเป็นบ้าน 2 ชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ โดยชั้นล่างจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงไม่กี่อย่าง ส่วนห้องนอนของนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ อยู่ชั้น 2 ของบ้าน โดยสภาพความเป็นอยู่ตามสภาพ โดยที่นอนใช้ฟูกปูนอนกับพื้น ขณะเดียวกันจากการสังเกต พบว่าเจ้าตัวใช้ไอแพด และโทรศัพท์มือถือยี่ห้อไอโฟน รุ่นล่าสุด
จากการสอบถาม ทราบว่า เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา และจะเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ในวันพรุ่งนี้ ต่อมาทีมข่าวได้สอบถามนายศตวรรษ เปิดใจกับทีมข่าวว่า ตนเองเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดสกลนคร จากนั้นจึงได้หาที่เรียนมหาวิทยาลัยต่อ โดยตนเองตั้งใจที่อยากจะเรียนคณะทันตแพทย์ศาสตร์ เนื่องจากว่าจบมาแล้วเป็นอาชีพที่ค่อนข้างทำรายได้ได้สูง จึงได้เลือกมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งยอมรับว่าค่าเทอมค่อนข้างสูง เฉลี่ยปีละ 700,000 บาท และตนเองศึกษามาดีแล้วว่ามหาวิทยาลัยมีการกู้ยืมทุนเพื่อศึกษา จากมหาวิทยาลัยโดยตรง
โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยก่อนเดือนละ 30,000 บาท และจบการศึกษาจึงค่อยจ่ายชำระเงินกู้ที่เหลือที่กู้ยืมเรียน จึงได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยในปี 1-4 ยอมรับว่าที่บ้านไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงินและยังคงสภาพคล่องทางการเงิน จนกระทั่งเมื่อช่วงโควิดที่ผ่านมา ทางบ้านขาดสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้งพ่อแม่แยกทางกัน จึงทำให้ตนเองต้องค้างจ่ายค่าเทอม รวมทั้งค่าอุปกรณ์การเรียนของชั้นปีที่ 5 จำนวน 170,000 บาท และขาดส่งดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวน 30,000 บาท ทั้งหมด 12 เดือน รวมเป็นเงิน จำนวน 120,000 บาท และค่าหอในเทอมละ 27,000 บาท รวม 2 เทอม จำนวน 54,000 บา ท
นายศตวรรษ บอกว่า ที่ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อหาคนมาช่วยเหลือ และเปิดรับบริจาคในครั้งนี้ เนื่องจากว่าตนเองจะต้องจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียน จำนวน 170,000 บาท ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดจะต้องจ่ายเป็นวันสุดท้ายก็คือวันที่ 19 เมษายน ซึ่งตนเองได้เคยขอผ่อนผันกับทางมหาวิทยาลัยมาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งถ้าหากตนเองไม่จ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนในครั้งนี้ ก็จะทำให้ตนเองไม่ได้ศึกษาต่อชั้นปีที่ 5 และจะต้องหยุดเรียนกลางคัน
ต่อมาทีมข่าวจึงได้สอบถามนายศตวรรษ ว่าไม่สามารถที่จะกู้ยืมเงิน กยศ. และ กรอ. มาเพื่อชำระเงินส่วนนี้ได้เลยใช่ไหม ซึ่งทาง นายศตวรรษ อ้างว่าตนเองได้กู้ยืมเงินโดยตรงกับทางมหาวิทยาลัยได้แล้วจึงไม่สามารถกู้ยืมเงินจาก กยศ. และ กรอ. ได้อีก เนื่องจากตนเองได้กู้เงินกับทางมหาวิทยาลัยเต็มจำนวนแล้ว แต่ที่เพื่อนนักศึกษารายอื่นกู้ยืมได้ เนื่องจากว่าได้ทำเรื่องกู้ยืมมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1
จากนั้นทีมข่าวจึงได้สอบถามยอดเงินบริจาคทั้งหมด ที่มีคนบริจาคเข้ามาผ่านบัญชีส่วนตัวของเจ้าตัว พบว่า มียอดเงินบริจาคเข้ามาทั้งหมดเกือบ 500,000 บาท โดยเจ้าตัวได้โอนเงินจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนให้กับทางมหาวิทยาลัยไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา จำนวน 170,000 บาท จึงทำให้เหลือยอดเงินบริจาคอยู่ประมาณ 253,991.70 บาท โดยเจ้าตัวบอกว่าจำนวนเงินดังกล่าวจะนำไปจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้กับทางมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท และค่าหอใน จำนวน 54,000 บาท ส่วนเงินที่ตนจะนำไปบริจาค
นายศตวรรษ ยอมรับว่า หมดหนทางที่จะหาเงินจำนวนดังกล่าว มาจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนได้ทันเวลาแล้ว จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจาก นายก อบจ.สกลนคร เพราะทางบ้านหมดหนทางหาเงิน เนื่องจากที่ทำกินก็นำไปขาย และจำนองส่งเป็นค่าใช้จ่ายให้ตนจนหมดแล้ว ส่วนที่ชาวเน็ตคอมเมนต์ตำหนิ ยอมรับว่า ช่วงแรกคิดมากแต่เพราะได้ตนเองก็จะรับไว้ เพราะได้กำลังใจจากครอบครัวและเพื่อน ๆ อีกทั้งเวลาไม่มีเงินก็คือไม่มีจริง ๆ
ขณะที่ทางด้านนายครองศักดิ์ อายุ 75 ปี ตาของนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ เผยว่า ก่อนหน้านั้นแม่ของหลานชาย เป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเรียนของหลานชายทั้งหมด แต่พอเมื่อช่วงโควิด การเงินเริ่มติดขัด ตนจึงต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าเล่าเรียนของหลานชายคนนี้
ซึ่งตนก็ยอมรับว่า เป็นเพียงแค่ชาวนาทำไร่ทำสวนไม่ได้เงินมากมาย แต่ด้วยเพราะหลานอยากจะเรียนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อีกทั้งหลานบอกว่าหากเรียนจบจะสามารถทำรายได้ได้สูง ถึงตอนนั้นหลานจะเป็นคนหาเงินมาใช้หนี้ทั้งหมดเอง ตนจึงได้ส่งเสียเลี้ยงดูหลังชาย แต่ก็ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยที่หลานเลือกเรียนค่าเทอมแพง ตนจึงจำใจต้องนำที่บ้าน ที่นาที่มีประมาณ 14 ไร่ไปขายและจำนองไว้กับเพื่อนบ้าน เพื่อหาเงินมาเป็นค่าเทอมให้กับหลานชายจนหมด จนไม่มีเงินจะมาจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนในชั้นปีที่ 5 ให้กับหลานจึงต้องแบกหน้าไปขอความช่วยเหลือกับ นายก อบจ. เพราะหมดหนทางแล้วจริง ๆ
คุณตายังบอกอีกว่า ส่วนเรื่องที่หลานเปิดรับบริจาค ตนเองก็ยอมรับว่าตนเองหมดหนทางแล้วจริง ๆ จึงต้องขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาและผู้ใจบุญ ส่วนใครจะตำหนิเรื่องที่หลานชายเปิดรับบริจาคก็ปล่อยให้คนตำหนิไป เพราะไม่มีใครรู้ว่าถ้าคนไม่มีจริง ๆ ก็คือไม่มี และไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่ให้กำลังใจหลานให้สู้ และตั้งไจเรียนให้จบ ให้สมกับที่มีคนใจดีบริจาคเงินมาช่วยในครั้งนี้
ทีมข่าวได้เข้าไปสำรวจค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ระดับปริญญาตรี ของหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยดังกล่าว พบว่า มหาวิทยาลัยได้จัดระบบการชำระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเป็นแบบระบบเหมาจ่าย ตลอดหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต จนจบชั้นปีที่ 6 เป็นจำนวนเงิน 5,400,000 บาท เฉลี่ยปีละ 900,000 บาท หรือเทอมละ 450,000 บาท
โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์การเรียนตลอดระยะเวลาการศึกษา จำนวน 700,000 บาท
ส่วนนักศึกษาที่กู้ยืมเงินผ่าน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่กำหนดให้เงินกู้ยืมค่าลงทะเบียนเรียนไม่เกินปีละ 200,000 บาทหรือเฉลี่ยเทอมละ 100,000 บาท และค่าครองชีพไม่เกินปีละ 36,000 บาท ดังนั้น นิสิตจะต้องชำระส่วนต่างค่าลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนเงิน 700,000 บาทต่อปี ตามประกาศของมหาวิทยาลัย หรือเทอมละ 350,000 บาทต่อภาคการศึกษา
ส่วนรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระในวันรายงานตัว แบ่งเป็น ค่าสมัครเรียน ค่าขึ้นทะเบียนนักศึกษา ค่าปรับพื้นฐาน จำนวน 39,000 บาท และค่าเงินประกัน การศึกษาจำนวน 100,000 บาท รวมทั้งหมด 139,000 บาท