วันที่ 8 พ.ค. 2567 เวลาประมาณ 10.00 น. ได้รับแจ้งเหตุตึกถล่มที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 93 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ จุดเกิดเหตุเป็นอาคารพาณิชย์ 7 คูหา ที่อยู่ในระหว่างการรื้อถอนอาคารให้เป็นที่ว่าง เพื่อโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย เกิดถล่มเศษวัสดุอุปกรณ์กระจายไปทั่วบริเวณทั้งพื้นผิวการจราจรและฟุตบาท รวมถึงบ้านประชาชนที่อยู่ใกล้ ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต






ทั้งนี้ ทีมข่าวได้ภาพวงจรปิดหลังจากอาคารถล่ม จะเห็นว่าช่วงเวลา 11.55 น. เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางอ้อถึงที่เกิดเหตุ ตรวจสอบเบื้องต้นเป็นอาคารที่อยู่ระหว่างการรื้อถอน ตึกแถว 3 ชั้น ปลูกติดกัน 7 คูหา ผู้รับเหมากำลังรื้อถอน ทำให้เศษวัสดุร่วงหล่นบนทางเท้าและตกใส่บ้านเรือนประชาชนใกล้เคียง จากนั้นเวลา 12.06 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตได้สั่งงดการรื้อถอนอาคารชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ผู้รับเหมาทำการจัดเก็บเศษวัสดุที่ตกหล่นบนทางเท้าและบนพื้นผิวจราจร




ด้านนางวิไลลักษณ์ อายุ 65 ปี เจ้าของร้านซักรีด ที่อยู่ติดกับอาคารที่ถล่ม ได้พาทีมข่าวขึ้นไปสำรวจความเสียหายบริเวณชั้น 2 ของร้าน พบว่ากำแพงของอาคารที่ถล่มพาดทับลงมาทำหลังคาพังเป็นรูขนาดใหญ่ และมีเศษหินเศษปูน เศษไม้และสังกะสีจำนวนมากหล่นใส่ร้าน ทำให้เสื้อผ้าลูกค้าและทรัพย์สินทั้งหมดเสียหาย ส่วนชั้นล่างที่เป็นห้องครัว ก็มีเศษปูนจำนวนมาก ไม่สามารถใช้งานได้




นางวิไลลักษณ์ เปิดเผยว่า ตนเองอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ 1 คูหา มานาน 40 ปี ก่อนหน้านี้ผู้รับเหมาก็ทยอยรื้อถอนอาคารบางส่วนมาก่อนหน้านี้ แต่เป็นอีกฝั่งที่ไม่ได้อยู่ติดกับบ้านตนเอง ซึ่งผู้รับเหมาก็ไม่ได้มีการมาแจ้งอะไร จนกระทั่งเมื่อช่วงเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. ผู้รับเหมาได้แจ้งว่าจะมีการรื้อถอนอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าว เพื่อเวรคืนที่ให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเสียงรบกวนมาถึงอาคารรอบข้าง ตนเองจึงไม่ได้มีการท้วงติงและรับทราบโดยคิดว่าจะมีการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายเนื่องจากบ้านตนเองนั้นอยู่ อยู่ติดกับอาคารที่รื้อถอนห่างกันเพียงแค่หนึ่งคืบ แต่สุดท้ายตนเองก็ไม่เห็นมีการนำอะไรมากั้น และระหว่างที่ตากผ้าอยู่บริเวณชั้นหนึ่ง จู่ ๆ ก็ได้ยินเสียงดังสนั่น ตนเองรู้ได้ทันทีว่าเป็นเสียงตึกถล่มอย่างแน่นอน เเต่ไม่คิดว่าจะส่งผลทำให้บ้านตัวเองเสียหายอย่างหนัก เคราะห์ดีที่ภายในบ้านมีเพียงตนเองเเละสามีอยู่ ส่วนลูกออกไปทำงาน จึงตัดสินใจวิ่งหนีออกมา ก่อนจะเห็นกลุ่มควันฟุ้งตลบอบอวล


เบื้องต้นตนเองได้พูดคุยกับผู้รับเหมา เนื่องบ้านพังเสียหายไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ประกอบกับหวาดกลัวว่าอาคารจะถล่มลงมาซ้ำอีก ผู้รับเหมาจึงจะให้ตนเองย้ายออกไปพักที่อื่นชั่วคราว ส่วนค่าเสียหายต่าง ๆ ทางบริษัทผู้รับเหมาจะรับผิดชอบ แต่ยังไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียด






ล่าสุด ทีมข่าวได้ภาพจากกล้องวงจรปิดช่วงนาทีเกิดเหตุ เวลา 10.23 น. สามารถจับภาพตึกทำกำลังรื้อถอนถล่ม โดยมีเศษปูน กำแพง หล่นตกลงมายังพื้นกลางถนน โดยแผ่นเมทัลชีตที่ปิดป้องกันเอาไว้ไม่สามารถรองรับแรงกระแทกของเศษปูนซิเมนต์เอาไว้ได้ ทำให้ฝุ่นตลบเต็มทั่วบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ และเมื่อถล่มจุดแรกเริ่มทยอยไล่ถล่มมาโดนบ้านเรือนประชาชนหลังใกล้เคียง อีกทั้งประชาชนที่ขับรถสัญจรนั้น สามารถหยุดจอดรถเอาไว้ได้ทัน ทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต่อมาคลิปวงจรปิดที่ 2 เวลา 10.28 น. จะเห็นได้ว่ามีแรงงานมาเก็บกวาดเศษวัสดุที่ร่วงหล่นบนพื้นผิวการจราจร




ต่อมาเวลา 15.25 น. น.ส.อารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การถล่มของตึก เป็นหนึ่งในการรื้อถอนตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี แต่อาจจะมีการรื้อถอนที่รุนเเรงหรืออย่างไร ตนก็ไม่ทราบจนทำให้ระหว่างการรื้อถอนมีเศษวัสดุของอาคาร ที่ทุบตกหล่นไปถูกบ้านเรือนบริเวณข้างเคียง ทำให้เกิดเศษปูนหล่นที่ทางเท้า และผิวการจราจรออกนอกเเนวกั้นของการรื้อถอน และมีเศษฝุ่นฟุ้งกระจายลงบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยตัวเศษปูนหล่นออกมานอกที่กั้นกันสิ่งตกหล่น โดยไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหลังจากเกิดเหตุ ได้มีการนำเจ้าหน้าที่เทศกิจมาอำนวยความสะดวก และได้ติดต่อผู้รับเหมาของโครงการดังกล่าวมาจัดการกับเศษ อาคารที่มีการกระจายลงบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์แล้ว


น.ส.อารียา กล่าวว่า สำหรับรื้อถอนอาคารพาณิชย์ดังกล่าวได้รับการขออนุญาตจากทางเขตเรียบร้อย โดยมีการรื้อถอนอาคารพาณิชย์ทั้งหมด 21 คูหา เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย มีการรื้อถอนออกไปแล้ว 14 คูหา เหลือ 7 คูหา ทั้งนี้ทางเขตบางพลัด ได้สั่งการให้หยุดการรื้อถอนไว้ 7 วัน เพื่อให้ทำการปิดกั้นบริเวณดังกล่าวให้เรียบร้อย ก่อนให้วิศวกรสำนักการโยธาเข้าตรวจสอบว่า การผิดพลาดเกิดจากสาเหตุใด


ในส่วนของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.บางพลัด พร้อมกันกับผู้รับเหมาแล้ว โดยตกลงที่จะมีการออกค่าเช่าค่าพักอาศัยให้กับผู้เสียหายที่ต้องย้ายออกจากอาคารที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งทางผู้รับเหมาก็ยินดีที่จะรับผิดชอบทั้งหมด




ต่อมาเวลา 16.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกับ นายวิศนุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 93 โดยเมื่อนายชัชชาติเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุได้มีการพูดคุยกับผู้รับเหมาทุบตึก โดยผู้รับเหมา เผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่ามาจากความผิดพลาดในการทำงาน หลังตึกถล่มลงมาตอนเข้าไปดูพบว่าด้านในไม่มีปัญหาอะไรแต่บริเวณชั้นหนึ่งของอาคารดันแนวป้องกันออกมา แต่แนวป้องกันที่ทำไว้มีความแน่นหนาตามมาตรฐาน แต่ถือว่าช่วยได้มากเพราะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตราย แต่ความผิดพลาดเกิดก็ขึ้นได้ในการทำงาน ตนต้องขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ที่ตกลงไปยังพื้นถนนมีเพียงเศษวัสดุแต่ภาพที่ปรากฏออกไปแล้วทำให้ประชาชนตื่นตระหนกเป็นเพราะมีฝุ่นฟุ้งไปทั่ว


เบื้องต้นห้องแถวที่ต้องทุบมี 21 ห้องแถว ตอนนี้เราดำเนินการไปแล้วกว่า 80% ด้วยวิธีการนี้ แต่ที่ผ่านมาก็ปลอดภัยดี แต่ที่เหลือ 20% ก็อาจจะเกิดจากความผิดพลาด ขณะเดียวกันนายชัชชาติ ก็พูดขึ้นมาว่า ล้มเหลวแค่เพียงครั้งเดียวความดีที่ผ่านมาไม่มีความหมาย


นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่า เรื่องนี้ต้องดูแลอย่างเข้มข้นและต้องทบทวนวิธีการรื้อถอนเพื่อเพื่อตรวจสอบว่าตึกถล่มได้อย่างไร รวมถึงการขออนุญาตรื้อถอนต้องไปดูกระบวนการที่เสนอมาว่ามีความครบถ้วนหรือมีจุดไหนที่บกพร่องบ้าง ซึ่งครั้งนี้ถือว่าโชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และต้องดูโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเพราะยังต้องมีการรื้อถอนอีก สุดท้ายตนเชื่อว่าเรื่องนี้เกิดจากความบกพร่อง มิเช่นนั้นคงไม่เกิดเรื่อง ส่วนการเอาผิดผู้รับเหมาก็ต้องดูความเสียหายตามกฎหมายต่อไป




ทั้งนี้ ทีมข่าวได้สอบถาม แม่นวล อายุ 65 ปี ประชาชนที่อาคารอยู่ติดกับตึกที่ถล่ม เผยว่า ขณะเกิดเหตุตนได้ยินเสียงตึกถล่ม เสียงดังมาก ตอนแรกยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแต่ตั้งหลักได้ก็วิ่งออกมาก่อน ในใจตนคิดว่าตึกจะถล่มมาทางบ้านเรา ก่อนเกิดเหตุมีคนงานเข้ามาบอกเพียงว่าในวันนี้จะมีการทุบตึก อาจจะมีเสียงดังนิดหน่อยเท่านั้น ตนต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของตนที่ได้รับความเสียหาย และการสูญเสียรายได้ระหว่างที่ตนต้องปิดร้านไปอยู่ที่อื่น 7 วันด้วย

 

เปิดนาทีระทึก! ตึก 7 คูหาถล่มสนั่น ชาวบ้านหนีตายอลม่าน