ฉาวอีก "อัจฉริยะ" แฉ ตร.จราจรกลาง บังคับลูกน้องตั้งด่านเถื่อน เรียกเก็บส่วยเดือนละ 7 ล้าน ยันมีหลักฐานชัด
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อร้องขอให้ตั้งกรรมการสอบวินัย และตรวจสอบให้ความจริงปรากฏ ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจ ร้องเรียนว่าผู้บังคับการจราจรกลาง และรองผู้บังคับการจราจรกลาง บังคับให้ตำรวจ กองกำกับการ 1 ตั้งด่านจุดกวดขันวินัยจราจร-ตรวจแอลกอฮอล์
โดยให้ส่งเงินรายวันเข้าสำนักงานผู้บังคับการจราจรกลาง ทุกวันจันทร์-พฤหัส ด่านละ 7,000 บาท ,ศุกร์ - อาทิตย์ ด่านละ 10,000 บาท โดยผ่านรองผู้บังคับการจราจรกลาง เป็นผู้ดำเนินการ
และยังมีกรณี ประชาชนร้องเรียนตำรวจที่ตั้งด่าน กองกำกับการ 1 มีการเรียกรับ , ละเว้น , เป็นด่านเถื่อนที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เนื่องจากมีการนำชื่อระดับสารวัตรมาสวม โดยที่ไม่ได้อยู่ที่ด่านจริง และไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย พร้อมกับนำภาพการตั้งด่านที่มีการเรียกรับผลประโยชน์ , ไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.อุ้มหาย และผู้ควบคุมจุดกวดขันวินัยจราจร-ตรวจวัดแอลกอฮอล์ไม่ได้อยู่ที่จุดตรวจจริง มาประกอบการร้องเรียน
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ตนเองได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.จร. ว่าถูกผู้บังคับบัญชา บังคับให้มีการตั้งด่านให้หาเงินรายวันส่ง โดยมีนายตำรวจยศ พ.ต.ต. เป็นผู้ควบคุมจุดตรวจไม่ได้อยู่ที่จุดตรวจจริงอันเป็นการกระทำความผิดทางวินัย ฐานทอดทิ้งหน้าที่ และในการจับกุมผู้ต้องหาก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย เนื่องจากบางฐานความผิดไม่ใช่ความผิดละหุโทษจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากมีการจับกุมความผิดฐานนี้ ผู้จับกุมต้องทำการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานสอบสวน และจะต้องแจ้งการจับกุมไปยังพนักงานอัยการ และนายอำเภอแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวทราบตามมาตร 22 แห่ง พ.ร.บ.อุ้มหาย หากไม่ปฏิบัติตามก็เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจักต้องกระทำตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ยังมีประชาชนที่ถูกจับกุมเห็นเหตุการณ์การเรียกรับผลประโยชน์ โดยมีการต่อรองราคา โดยให้ผู้ต้องหาจะต้องเป็นผู้หาบุคคลอื่นหรือตัวแทนมาเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม และเรียกรับเงินจากผู้ต้องหาแลกกลับการปล่อยตัวไปอันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ประกอบมาตรา 157
โดยจุดที่เจรจาจะไม่มีกล้องบันทึก แต่สามารถดูได้จากกล้องบันทึกได้ของตำรวจตั้งด่านทุกคน และกล้องที่ด่านตรวจว่ามีการเรียกเป่าเมาแล้วขับกี่ราย และจับกุมกี่รายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 23.00-04.00 ที่จะต้องมีการ ตั้งด่านบริเวณ ปากซอยรามอินทรา 44/1 พื้นที่รับแจ้งเหตุสน.คันนายาว โดยมี นายตำรวจ ยศ พ.ต.ต. เป็นผู้ควบคุม แต่มีการเปลี่ยนจุดตรวจมายังหน้าเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นพื้นที่ของสน.ทุ่งสองห้อง โดยไม่ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ โดยมีการมอบหมายให้ นายตำรวจ ร.ต.อ.สมิทธ์ เป็นผู้เก็บเงินทั้ง ๆ ที่ไม่หน้าที่ตั้งด่าน และการเลือกปฏิบัติอีกทั้งปล่อยรถที่ทำผิดกฎหมายเช่นป้ายแดง โดยไม่เรียกตรวจ
นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ผู้ร้องอ้างว่าถูกบังคับให้เข้าเวรและตั้งด่านหาเงิน ทั้งที่ไม่ที่หน้าที่ และโดยเงินที่ได้จากการตั้งด่านจำนวน 6 ด่าน ได้เงินเดือนละกว่า 7ล้านบาท จากนั้นจะต้องส่งไปยังสำนักงานผู้บังคับการ เดือนละ 4 ล้าน ส่วนอีก 3 ล้านบาท จะนำมาแบ่งกัน ประมาณ 90 นาย โดยผู้ร้องยังยืนยันด้วยว่ายินดีจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบหากคณะกรรมการเชิญเข้ามาให้ข้อมูล เพราะเรื่องนี้ผิดกฎหมายทำให้ประชาชนเดือนร้อน โดยตนเองมีหลักฐานเป็นคลิปวิดิโอ และภาพถ่ายขณะส่งมอบเงินรวมทั้งหลักฐานที่หัวหน้าด่านไม่อยู่ในที่เกิดเหตุมามอบให้ด้วย