ทนายด่าง ฉีกกระดาษคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ทันที เตรียมบุก รพ.ราชทัณฑ์ พร้อมเพื่อนบุ้ง พรุ่งนี้ ทวงประวัติการรักษา หลังถูกเลื่อนมา 7 ครั้ง
วันที่ 19 พ.ค. 2567 นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หือทนายด่าง ทนายความจากประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงคำชี้แจงหน้าเมรุเผาศพ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง หลังกรมราชทัณฑ์ออกเอกสารยืนยัน การรักษาบุ้งว่าให้การช่วยเหลือตามมาตรฐานการรักษาวิชาชีพของแพทย์ โดยแพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ นวดหัวใจ พร้อมให้ยากระตุ้นหัวใจ ยากระตุ้นความดันโลหิตตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง และทีมบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงเวลา จนส่งตัวผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งหลังจากที่ทนายกฤษฎางค์อ่านคำแถลงชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เสร็จก็ได้ฉีกกระดาษคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ทันที
จากนั้นทนายกฤษฎางค์ ได้นำบันทึกการรักษาของนางสาวเนติพร จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มาอ่านเพื่อชี้แจงว่า นางสาวเนติพร หมดสติในเวลา 06.23 น. ซึ่งขณะนั้นไม่มีสัญญาณชีพ และมีการทำ CPR จนกระทั่งถูกสองตัวมายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในเวลา 09.30 น. และเสียชีวิตในเวลาต่อมาโดยสาเหตุการเสียชีวิตจากการพลิกศพลงความเห็นว่าภาวะหัวใจล้มเหลวโดยเฉียบพลัน ภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ และภาวะหัวใจโต ส่วนผลการตรวจหาสารพิษอยู่ระหว่างการรอผล
โดยจากข้อมูลการรักษาจากเวชระเบียนที่ได้รับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่รับบุ้งมารักษาในเวลา 09:30 น. ขณะนั้นไม่มีสัญญาณชีพ คลื่นหัวใจแรกรับไม่มีคลื่นไฟฟ้าของหัวใจข้างล่าง (Asystole) ไม่มีเสียงลมในปอด แต่กลับได้ยินที่บริเวณลิ้นปี่ และพบพ่อช่วยหายใจอยู่ในหลอดอาหาร รวมถึงค่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่วัดการหายใจ ( ETCO2) เท่ากับ 0 มิลลิเมตรปรอท ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ที่ห้องฉุกเฉิน และหลังใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ก็ได้ยินเสียงลมที่ปอดทั้ง 2 ข้าง และค่าคาบอนไดออกไซด์ที่วัดการหายใจ (ETCO2) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10 มิลลิเมตรปรอท
ทนายกฤษฎางค์ได้ ตั้งข้อสงสัยถึงการกู้ชีพ ตั้งแต่ที่บุ้งล้มและไม่มีสัญญาณชีพ เมื่อตอน 06.23 น. เป็นเวลา 3 ชั่วโมง กว่าจะมาถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และทนายกฤษฎางค์ ยังบอกอีกว่า การใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดอาหารเป็นสิ่งที่พบได้ แต่ตามมาตรฐานวิชาชีพ การตรวจสอบเพื่อยืนยันตำแหน่งท่อช่วยหายใจทันทีเป็นเรื่องพื้นฐาน หากไม่แน่ใจต้องมีวิธีในการยืนยัน เพื่อแน่ใจว่าตำแหน่งของท่อช่วยหายใจอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ และแม้การใส่ท่อช่วยหายใจผิดตำแหน่งอาจไม่ได้เป็นสาเหตุการเสียชีวิต แต่ก็เป็นหนึ่งในความผิดพลาดร้ายแรงที่ทำให้โอกาสการคืนชีพของบุ้งน้อยลง จนกลายเป็นแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต
ดังนั้น ทนายความและครอบครัวจึงตั้งคำถามกับทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุ้ง ตั้งแต่การดูแลก่อนการเสียชีวิต การกู้ชีพ ไปจนถึงการส่งตัวเพื่อรักษาต่อ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ทราบถึงมาตรฐานของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ถูกคุมขังคนอื่นที่ต้องใช้โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่เกิดเหตุในลักษณะเช่นเดียวกับบุ้งอีก ทนายกฤษฎางค์ยังบอกอีกว่า สิ่งที่ตนและครอบครัวบุ้งสงสัยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
นอกจากนี้ ทนายกฤษฎางค์ ยังบอกอีกว่าพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า รถฉุกเฉินที่นำตัวบุ้งไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ภายในมีแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์อยู่ในรถคันดังกล่าวอีกด้วย
ขณะที่พรุ่งนี้ เวลา 09.30 น. ทีมทนายความ และกลุ่มเพื่อนจะเดินทางไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อขอประวัติการรักษาบุ้ง 5 วันก่อนเสียชีวิต หลังถูกเลื่อนการส่งเอกสารมาถึง 7 ครั้ง
ขณะที่เวลา 14.24 น. ญาติและครอบครัว พร้อมกลุ่มเพื่อน โดยมีนางสาวณัฐนิษ ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ เป็นผู้ถือรูปหน้าศพ พี่สาวของบุ้งถือกระถางธูป และมีนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ นางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และเพื่อนกลุ่มทะลุวัง ร่วมกันเข็นรถเคลื่อนโลงศพ และมีกลุ่มประชาชนเดินต่อท้ายขบวนเพื่อเวียนรอบเมรุ จำนวน 3 รอบ และระหว่างเวียนรอบเมรุ ได้เปิดเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา, เพื่อมวลชน, ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ รวมถึงการตะโกนเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ก่อนช่วยกันยกโลงศพขึ้นไปบนเมรุ จากนั้น ทางเพื่อนและครอบครัวได้แสดงรำมโนราห์ โดยน้องสาวของบุ้งเป็นคนรำ เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับบุ้งเป็นครั้งสุดท้าย
ส่วน บุคคลสำคัญทางการเมืองที่มาร่วมงานฌาปนกิจของบุ้ง มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. ขณะที่จากการสังเกตไม่พบเยาวชนหญิงที่เคยอยู่ในการดูแลของบุ้งมาร่วมงาน