ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนระเบียบ กกต.แนะนำตัวเลือก สว. 3 ข้อสำคัญ จำกัดสิทธิเสรีภาพ ประเด็นเขียนประวัติได้แค่ไม่เกิน A4-การแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์-ไฟเขียวสื่อ พิธีกรแนะนำตัวได้

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 รวม 2 สำนวนที่มีนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับพวก ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. ดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นการออกระเบียบโดยมิชอบ และขัดต่อสิทธิเสรีภาพ

ล่าสุด ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกส สว. 2567 ข้อ 7 ข้อ 8 และ ข้อ 11 (2) ตามคำร้องของผู้ฟ้องคดี

โดย ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ข้อ 7 ระบุว่า การใช้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ให้ใช้เอกสารขนาดไม่เกิน A4 สามารถระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา ประวัติการศึกษา หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า การแจกเอกสารตามวรรคหนึ่ง จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้

ข้อ 11 (2) ระบุว่า นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีผลบังใช้ไปจนถึงวันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณี ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว

เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ศาลปกครองกลางเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน จำนวน ๒ คดี ดังนี้

คดีหมายเลขดำที่ ๗๕๓/๒๕๖๗ หมายเลขแดงที่ ๙๗๑/๒๕๖๗ ระหว่าง นาย ท. (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องคดี)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ข้อ ๗ ข้อ ๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ข้อ ๑๑ (๒) และ (๕) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบในส่วนพิพาทดังกล่าว

ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ แต่ข้อ ๗ และข้อ ๘ ของระเบียบดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองและการมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภามาปฏิบัติหน้าที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชน ตามมาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๑๐๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีที่ระเบียบพิพาทข้อ ๗ กำหนดเนื้อหาที่ระบุในเอกสารแนะนำตัวได้เฉพาะข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ไม่เกิน ๒ หน้า ขนาดกระดาษ เอ ๔ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างกลุ่มผู้สมัคร ทั้งที่บุคคลแต่ละคนที่สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภานั้นมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และแนวความคิดในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแตกต่างกัน การกำหนดเนื้อหาและปริมาณเอกสารที่ใช้แนะนำตัวซึ่งมิใช่เอกสารการสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๖ จึงย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา ของผู้ประสงค์จะสมัคร ผู้สมัคร และผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร รวมถึงประชาชนทั่วไป เกินสมควรแก่เหตุและไม่ใช่เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน ระเบียบพิพาทจึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๒๖ และมาตรา ๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีที่ระหว่างพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ แก้ไขความในข้อ ๗ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ นั้น เห็นว่า ยังคงมีสาระสำคัญในการกำหนด ข้อความให้ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาแนะนำตัวได้ทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ ของระเบียบฉบับเดิม ดังนั้น ข้อ ๗ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และกรณีที่ระเบียบพิพาท ข้อ ๘ กำหนดให้ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาแนะนำตัวได้เฉพาะแก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น เป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาเกินสมควรแก่เหตุ อันไม่ชอบด้วยมาตรา ๒๖ และมาตรา ๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ตาม ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบพิพาท ข้อ ๘ ให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นด้วยก็ได้ จึงเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และไม่จำกัดเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ข้อ ๘ ก่อนมีการแก้ไขโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งใช้บังคับระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีระเบียบฯ ข้อ ๑๑ (๒) ที่กำหนดห้ามเฉพาะบางกลุ่มคือ กลุ่มตามมาตรา ๑๑ (๑๖) และ (๑๘) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยผู้สมัครกลุ่มอื่น ๆ อาจมีความสามารถในการแนะนำได้เท่าเทียมหรือมากกว่าผู้สมัครสองกลุ่มดังกล่าวได้ การจำกัดเฉพาะผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาสองกลุ่มนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน จึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

กรณีระเบียบฯ ข้อ ๑๑ (๕) นั้น เมื่อมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้บุคคลซึ่งประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ แต่ระเบียบข้างต้นห้ามเฉพาะผู้สมัครและผู้ช่วยเหลือผู้สมัครมิได้เป็นการห้ามสื่อมวลชนทุกคน จึงไม่อาจถือว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนและมิได้ห้ามการประกอบอาชีพสื่อมวลชนตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด

จึงพิพากษา ดังนี้ (๑) เพิกถอนข้อ ๗ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ (๒) เพิกถอนข้อ ๘ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งใช้บังคับในระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗ จนถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗ (๓) เพิกถอนข้อ ๑๑ (๒) ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก