รพ.ศูนย์การแพทย์ โรงเรียนแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ ซ่อมหัวใจมนุษย์จากชิ้นส่วนหัวใจหมูและวัว ลดการนำเข้า ขยายโอกาสรอดชีวิตสำหรับผู้ป่วยลิ้นหัวใจ
วันที่ 28 พ.ค. 2567 ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช การใช้เยื่อหุ้มหัวใจจากวัวและหมู มาใช้ในการซ่อมลิ้นหัวใจมนุษย์เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยคุณสมบัติที่ดีกว่าลิ้นหัวใจจากโลหะหรือวัสดุสังเคราะห์ ที่สำคัญมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ผ่าตัดซ่อมแซมหัวใจได้ด้วยเทคโนโลยีนี้ โดยการผ่าตัดวิธีการนี้ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ซับซ้อน และได้รับการตอบรับจากผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์สมชาย ไวกิตติพงษ์ แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทรวงอก ประจำ รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจโดยใช้ชิ้นส่วนจากหัวใจวัวและหมู นำมาซ่อมแซม หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจของมนุษย์ เป็นเทคโนโลยีที่มีมานานพอสมควรแล้ว และมีผลดีกว่าการใช้ลิ้นหัวใจเทียมผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าลิ้นหัวใจสังเคราะห์ หรือที่เรียกว่าลิ้นหัวใจเทียม
“ชิ้นส่วนจากหัวใจวัว และหมูนั้นไม่ได้มาจากการเลี้ยงทั่วไป แต่จะเป็นการเลี้ยงในระบบควบคุมทางเทคโนโลยีชั้นสูงทุกขั้นตอน หลังจากได้ชิ้นส่วนมาแล้วจะนำมาตรวจสอบคัดกรองอย่างละเอียด ไม่มีร่องรอยหินปูนหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น จากนั้นจะนำมาเย็บด้วยมือมนุษย์แล้วจึงนำมาใช้ซ่อมแซมลิ้นหัวใจในการผ่าตัด”
ขณะที่ นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การผ่าตัดซ่อมหัวใจ โดยเฉพาะลิ้นหัวใจ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า ผนวกกับแพทย์ผ่าตัดผู้เชี่ยวชาญการรอดชีวิตของผู้ป่วยจากภาวะลิ้นหัวใจพิการ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือด้วยอาการอื่นสู่การวินิจฉัยและปฏิบัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิต และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวได้อย่างปกติ
“การใช้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจจากวัวและหมู มาใช้ซ่อมแซมลิ้นหัวใจคน เป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ปัจจุบันนั้นยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลักมีมูลค่าสูง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพร้อมในทุกด้าน พื้นที่ฟาร์ม อุปกรณ์เครื่องมือ นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นักเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์ และอีกหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง การเริ่มต้นพัฒนาและการผลิตขึ้นมาจะเป็นทางเลือกที่สำคัญให้กับการช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยนี้ได้มากขึ้น” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุ