"เอก อังสนานนท์" ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ชี้ข้อกฎหมายปมปลด "บิ๊กโจ๊ก" ต้องรอคำวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร.ชี้ขาด ไม่ชัดยังมีสิทธิ์เป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.
วันที่ 29 พ.ค.67 ที่ ตร. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเผย กรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความเห็นในกรณีนี้ 2 ประเด็น คือ การสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรี ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้โปรดเกล้าฯ พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และมีกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบใน 2ประเด็นนี้ ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 และมาตรา 179 แห่งพร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ส่วนกรอบระยะเวลาในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาเหมาะสม
นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนดังกล่าว หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นก็จะชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายและเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกสอบสวน อย่างไรก็ตามสำหรับ 2 ประเด็นที่ได้มีการสอบถามไป หน่วยงานรัฐที่มีการสอบถามความเห็นไปจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 และแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานรัฐ มิได้มีผลบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานนั้น อย่างกรณีนี้นายกรัฐมนตรี อาจจะรับข้อสังเกตมาพิจารณา แต่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ แน่นอนตามที่วินิจฉัยมา แต่เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี อาจจะต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร.
พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า การวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. เทียบเท่ากับศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งการวินิจฉัยจะมี 2 แนวทาง คือ กรณีแรกเป็นคุณกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ผลก็คือต้นสังกัดจะต้องมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการทันที โดยมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน และเชื่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็จะนำคำวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร.อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ผลคำวินิจฉัยเป็นโทษ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็สามารถร้องศาลปกครองสูงสุดได้ ซึ่งมีกรอบนระยะเวลา 90 วัน ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายไม่ใช่ว่าใครจะมาให้ความเห็นว่าต้องเข้ามาตรา 120 วรรคท้าย หรือ มาตรา 131 ต้องรอก.พ.ค.ตร.และศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด
ทั้งนี้ ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือและส่งเรื่องมาให้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แล้ว ตามไทม์ไลน์ รรท.ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยและให้ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อวันที่ 18 เมษายน จากนั้นวันที่ 22 เมษายน ส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล แต่กรณีนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้อุทธรณ์ต่อก.พ.ค.ตร. ในประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาพิจารณา ต่อมาวันที่ 9 พ.ค. สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งไปยัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่า คำสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยและให้ออกจากราชการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการจะยกเลิกคำสั่งให้ไปอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร.
พล.ต.อ.เอก ย้ำว่า สถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะนี้ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนและกระบวนการทางกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งซึ่งจะมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ คือ 18 เมษายน 67 กระบวนการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในหลายเรื่อง หากมีความล่าช้าออกไป อาจจะเสียสิทธิในการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ขณะเดียวกันการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. มีความเป็นอิสระ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ไม่มีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ซึ่งตามขั้นตอนปกติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลเกล้า แต่กรณีนี้มีการอุทธรณ์และร้องทุกข์หลายหน่วยงาน