ส่องเลขเด็ด! โครงกระดูกมนุษย์โบราณ อายุกว่า 2,000 ปี ขณะที่ นายกเล็ก เตรียมปรับเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองเก่า

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการปรับภูมิทัศน์คูเมืองบูรพารวมพล ด้านตะวันออก ถ.อัษฎางค์ ตัด ถ.พลล้าน เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายก ทน.นครราชสีมา ในฐานะรับผิดชอบโครงการ ฯ พร้อมนายธนัญชัย วรรณสุข สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ในฐานะเจ้าของพื้นที่และอาคารที่ถูกรื้อถอนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขุดค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยมีนายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พร้อมนายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดีและนักโบราณคดีปฏิบัติการ นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยาและนายวิธาน ศรีขจรวุฒิศักดิ์ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลเบื้องต้นกรณีขุดดินตามแนวกำแพงเมืองเก่า ระดับความลึก 180 ซ.ม. พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 2 โครง ไม่ทราบเพศ โครงแรกลักษณะนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกและห่างจากโครงแรกประมาณ 2.5 เมตร โครงที่สองลักษณะกะโหลกศีรษะถูกตัดวางอยู่บริเวณลำตัว เศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ รวมทั้งภาชนะแบบพิมายดำ

 

 

นายทศพร ผอ.สน.ศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ครั้งนี้เป็นการขุดค้นพบทางโบราณคดี จำเป็นต้องเก็บข้อมูลหลักฐานทางวิชาการในแต่ละขั้นตอนสามารถนำไปอ้างอิงได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ขุดค้นพบด้วยความบังเอิญไม่ใช้หลักโบราณคดีมาดำเนินการ สำหรับหลักฐานที่ค้นพบทั้งหมดจะรวบรวม นำไปศึกษาวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาค่าอายุและทำรายงานตามลำดับ จากการรับฟังข้อมูล พื้นที่บริเวณแห่งนี้น่าจะมีหลักฐานทางโบราณคดีอีกจำนวนมากรอการขุดค้นพบ สันนิษฐานบริเวณแห่งนี้มีร่องรอยบ่งชี้ถึงอารยธรรมโบราณเคยใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมฝังศพผู้เสียชีวิต เมื่อ 1000-2000 ปีที่ผ่านมา

นายประเสริฐ นายก ทน.นครราชสีมา กล่าวว่า รอบพื้นที่คูเมืองมีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะแหล่งพักผ่อนหย่อนใจรวมทั้งเป็นแลนด์มาร์คเมืองเก่าโคราช ก่อนดำเนินการต้องประสานงาน สน.ศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เพื่อดำเนินการทางโบราณคดีขุดค้นวิเคราะห์ศึกษาหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การขุดค้นพบครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แสดงให้เห็นเมืองโคราชเป็นพื้นที่แหล่งอารยธรรมทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มีแนวทางรักษาสภาพหลุมที่ขุดค้นพบแต่ใช้วัสดุอื่นจำลองแทนโครงกระดูกและชิ้นส่วนหลักฐาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้รับชม เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงกันมีกำแพงเก่าของเมืองสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวเข้าด้วยกัน เป็นจุดเรียนรู้เรื่องเล่าประวัติรากวัฒนธรรมความเป็นมาของเมืองโคราช ยุคสมัยพระนารายณ์มหาราชหรือช่วงอยุธยาตอนปลาย

 

 

ทั้งนี้บริเวณนอกรั้วพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดี พบนางสาวชานิศา ภักดีกุล และนายประวิทย์ ตรีเวช ชาวบ้านในพื้นที่ได้นำชุดเครื่องเซ่นผลไม้ หมากพลู ใส่พานมาไหว้ขอขมา พร้อมกับธูปเสี่ยงทายตัวเลข ปรากฏเลข 807

พร้อมกับธูปแตกเหมือนรอยผ่า สร้างความประหลาดใจ โดยนำโทรศัพท์มาถ่ายภาพไว้เป็นที่ฮือฮาและขณะเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการเปิดวัสดุคลุมรักษาสภาพกะโหลกศีรษะ บริเวณโครงกระดูกลักษณะถูกตัดศีรษะวางบนลำตัว พบตุ๊กแกตัวโตเต็มวัยเกาะอยู่ ทำให้ตื่นตกใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หลังดำเนินการตามหลักวิชาการโบราณคดีได้เตรียมกั้นแนวเขตเป็นพื้นที่หวงห้ามต่อไป