จ.สุราษฎร์ธานี มีการขุดพบแท่นศิลาสลักลวดลาย คาดเป็นฐานเทวรูปพระนารายณ์ที่พบก่อนหน้า มีอายุกว่า 1,000 ปี
วันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่วัดป่าลิไลยก์ ต.เลม็ด อ.ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา ได้รับแจ้งจากคณะที่มาท่องเที่ยว ศึกษาประวัติศาสตร์ ศรีวิชัย ที่ อ.ไชยา ว่า ได้บังเอิญพบโบราณวัตถุที่สำคัญชิ้นหนึ่ง เป็นหินทรายแกะสลักลวดลายผักกรูดที่สวยงามมาก คาดน่าจะมีอายุกว่า 1,000 ปี จึงได้ประสานไปยังหัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา พร้อมกับพระอาจารย์มหาธงชัย เจ้าอาวาสวัดรัตนราม หรือวัดแก้ว เดินทางไปตรวจสอบ
สิ่งนั้นก็คือโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ในเบื้องต้น ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นอะไร ลักษณะสี่เหลี่ยมจตุรัส วัสดุที่ใช้เป็นหินทรายแดงเนื้อละเอียด สลักลวดลายสวยงาม มองคล้ายลายแกะสลักของปราสาทจาม-ชวา มีขนาดประมาณ 1.50 x 1.50 ม. ด้านบนผิวเรียบ มีชำรุดเล็กน้อยตามกาลเวลา เมื่อพลิกขึ้นมาภายในบรรจุปูนเก่า ขอบด้านล่างเว้าเป็นลูกคลื่น เหมือนมีการขัดถู ด้านหนึ่งมีการสลักลวดลายงดงามลายเกลียวม้วน โค้งไปมาสามแถว อีก 3 ด้านไม่ได้สลักลาย แต่ดูคล้ายการเซาะร่องเสา คาดว่ามีอายุกว่า 1,000 ปี มีน้ำหนักมาก ต้องใช้คนประมาณ 5-6 คนช่วยกันยกถึงจะขึ้น
หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา ได้อธิบายว่า อาจจะเป็นฐานของเทวรูปพระนารายณ์ที่พบในพื้นที่ก่อนหน้านี้ จากนั้นได้นำไปฝากเก็บรักษาไว้ที่วัดรัตนราม หรือวัดแก้ว เพื่อป้องกันสูญหาย และได้ประสานกรมศิลปากรมาตรวจสอบ
โดยบริเวณพื้นที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดี มักจะมีการขุดพบวัตถุโบราณ จำพวกเครื่องถ้วยชามสังคโลก ลูกปัด พระพุทธรูป และอื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นหัวเมืองเก่าของภาคใต้ที่บ่งชี้ถึงความเป็นเมืองที่มีอารยธรรมและความรุ่งเรืองมาก่อน มีสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก และจะมีนักล่าสมบัติและวัตถุโบราณต่างเข้ามาขุดค้น หาสิ่งของมีค่า และวัตถุโบราณเหล่านั้นออกจากพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอการตรวจสอบอย่างละเอียดจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรอีกครั้ง